วันนี้ (25 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น่านฟ้าเหนือกองบิน 4 จังหวัดนครสวรรค์ ได้ต้อนรับเครื่องบินขับไล่ฝึกแบบ T-50 จำนวน 2 เครื่อง จากเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก เพื่อเตรียมประจำการที่ฝูงบิน 401 หลังการส่งมอบล่าช้าออกไปกว่า 2 สัปดาห์ จากปัจจัยสภาพอากาศทำให้เครื่องเสียหาย จนต้องจอดซ่อมเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ที่สนามบินมาเลเซีย
พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ยังคงมั่นใจประสิทธิภาพของเครื่องT-50 เพราะเป็นเครื่องบินขับไล่ฝึกที่ดีที่สุดแบบหนึ่งของโลก และเครื่องยนต์ T-50 ก็เป็นแบบเดียวกับเครื่องบินขับไล่เอฟ 18 และกริพเพน
“จริงๆน่าจะคุ้มค่า เครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นของเรา เป็นระดับท็อปของโลก บางระบบประเทศมหาอำนาจก็ยังไม่มีใช้” พล.อ.อ.จอม กล่าว
น.ท.ธีรยุทธ เกื้อสกุล ผบ.ฝูงบิน 401 ตาคลี หนึ่งในนักบิน T-50 6 คนแรก ที่สำเร็จหลักสูตรครูการบินและนักบินลองเครื่องจากเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า แม้กองทัพอากาศจะจัดหาเครื่องบินขับไล่ฝึกจากเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่มีปัญหาในการใช้งาน เพราะเป็นเครื่องที่เกาหลีใต้ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตสหรัฐฯ พัฒนาขึ้น และนักบินกองทัพอากาศก็คุ้นเคยกับระบบของสหรัฐฯ ดีอยู่แล้ว
“ทางเกาหลีเขาพัฒนาเครื่องบินชนิดนี้ร่วมกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ มีความเป็ฯทางสหรัฐฯเกือบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเรื่องแนวทางการบิน อุปกรณ์การบินต่างๆ พวกผมค่อนข้างคุ้นเคยมาหมด” น.ท.ธีรยุทธ กล่าว
กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ฝึก T-50 ทดแทนเครื่องบินขับไล่ฝึก L-39 โดยมีแผนจัดหา 12 เครื่ิอง วงเงินกว่า 12,000 ล้านบาท และจะทยอยเข้าประจำการจนครบ พร้อมปฏิบัติภารกิจเต็มรูปแบบภายในปี 2563
ทั้งนี้ เครื่องบินขับไล่ฝึก T-50 ยังสามารถใช้ปฏิบัติการทางอากาศและโจมตีทางอากาศได้ เนื่องจากมีความทันสมัยและสมรรถนะสูง
ไม่เพียงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ฝึกรุ่นใหม่ แต่ยังนับเป็นการขยายความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ ซึ่งในรอบ 3 ปี หลังเหตุการณ์ยึดอำนาจทั้ง 3 เหล่าทัพ ได้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากหลายค่ายผู้ผลิต เนื่องจากปัจจัยด้านราคาและข้อจำกัดด้านกฎหมายของบางประเทศ
ล่าสุดกองทัพบกจัดหารรถถัง VT-4 จากจีน เข้าประจำการแล้ว 28 คัน และมีแผนจัดหาให้ครบ 1 กองพัน 48 คัน ซึ่งเป็นรถถังยุคใหม่ ทั้งด้านระบบอาวุธและการขับเคลื่อน เพื่อทดแทนรถถังแบบ M41 ที่จัดหาจากสหรัฐฯ ขณะที่กองทัพเรือก็ฝ่ากระแสวิจารณ์จัดหาเรือดำน้ำ ชั้นหยวน รุ่น S26T จากจีน จำนวน 1 ลำ วงเงินกว่า 13,000 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว ใช้เวลาสร้าง7ปี
นอกจากอาวุธจากหลายค่ายผู้ผลิต ที่ทยอยเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังเปิดพื้นที่ความสัมพันธ์กับมิตรประเทศให้กว้างขึ้น โดยร่วมมือจัดตั้งโรงซ่อมระดับหน่วยและร่วมทุนจัดตั้งโรงงานซ่อมสร้างกับจีนและชาติอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไขความพร้อมของแต่ละประเทศ