หลังจากที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ออกแถลงการณ์เตือนความเสี่ยงพบตัวอ่อนพยาธิเติบโตเป็นพยาธิตัวตืดในแซลมอนจากมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงปลาแซลมอนจากอะแลสกา พร้อมแนะนำว่าควรรับประทานแซลมอนปรุงสุก หรือหากเป็นแซลมอนสดก็ควรเป็นแซลมอนแช่แข็ง
นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีข้อกังวลเกี่ยวกับแซลมอนที่จำหน่ายในประเทศไทย ว่า พยาธิตัวตืดส่วนใหญ่พบในเนื้อหมูเนื้อวัวมากกว่า แต่ปลาแซลมอนหรือเนื้อปลาจะเป็นพยาธิตัวกลม หากจะรับประทานควรเลือก แซลมอนที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ผ่านการแช่แข็งติดลบ 35 องศาเซลเซียสใน 12-15 ชั่วโมง หรือหากติดลบน้อยกว่านั้น เช่น แช่แข็งติดลบ 20 องศาเซลเซียส ก็ต้องอยู่นานถึง 7 วัน เป็นต้น แต่หากจะให้ปลอดภัยที่สุด คือ ทำให้สุกที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส
ด้าน ผศ.ดุลยพร ตราชูธรรม อาจารย์ประจำหลักสูตรพิษวิทยา และโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความนิยมรับประทานปลาแซลมอนดิบอย่างซูชิหรือซาซิมิต้องมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากหากพบพยาธิปนเปื้อน อาจมีผลกระทบต่อเด็กทารกได้ เนื่องจากบางชนิดไม่ได้มีผลแค่ทางเดินอาหาร แต่ยังมีผลทำให้โลหิตจาง ทำให้ขาดวิตามินบี 1 ได้ด้วย