แลโลกศิลปะ: นักศึกษาศิลปะจบ ป.ตรี แล้วไปไหน
รูปพิธีรำลึกบรรพบุรุษแบบล้านนา สร้างสรรค์จากเศษผ้าต่างสีด้วยความเคารพ ลายเซ็นเฉพาะตัวของธิติพรหม อ่อนเปี่ยม ที่ส่งให้เธอคว้ารางวัลมาหลายเวที ฉายแววศิลปินตั้งแต่ยังศึกษา ขณะที่ปรีชา ชัยสร พลิกฝันหลังได้เป็นนักเรียนทุน ก็ตั้งเป้าเรียนต่อครูเสริมวุฒิ เพื่อกลับมาเป็นผู้ให้
เป้าหมายที่แตกต่างของนักศึกษาปริญญาตรี คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ทั้ง 107 คนที่กำลังโชว์ผลงานสุดท้ายก่อนพ้นรั้วศิลปากรในนิทรรศการ 67 ริกเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมา บัณฑิตศิลปะนับร้อยคน มีเพียงหลักสิบเท่านั้นที่มุ่งหน้าเป็นศิลปินด้วยศิลปะบริสุทธิ์ อุปสรรคเรื่องโอกาสและปากท้องทำให้นักศึกษาศิลปะส่วนใหญ่หันไปจับงานเชิงพาณิชย์และมีไม่มากที่กลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์และใบปริญญาที่สูงขึ้น
มุมมองศิลปะที่ได้มายังส่งเสริมการงานสายอื่น การันตีจากประสบการณ์ของภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ที่ผันตัวไปอยู่วงการหนังและวรรณกรรม เป็นนักวิจารณ์และทำนิตยสาร ขณะที่หลายคนค้นตัวเองเจอหลังเรียนจบอย่างศิลปินร่วมสมัย คามิน เลิศชัยประเสริฐ ที่เรียนเอกภาพพิมพ์แต่กลับสร้างชื่อด้วยผลงานหลากหลาย ทั้งประติมากรรม ภาพถ่าย เพ้นติ้ง ศิลปะจัดวาง หลังการไปเปิดโลกกว้างที่นิวยอร์ก แล้วพบว่าศิลปะสำคัญที่ความคิดสะท้อนว่าเป็นบัณฑิตก็แค่จุดเริ่มต้น
การเตรียมพร้อมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ยังทำให้หลายคนปูทางสร้างชื่อนอกชั้นเรียนตั้งแต่เนิ่น สร้างโอกาสเป็นศิลปินได้มากกว่า แม้สถาบันศิลปะแถวหน้าจะผลิตศิลปินตัวจริงได้ปีละไม่กี่สิบคน แต่พวกเขาก็เป็นอนาคตของวงการศิลปะไทยที่ต้องการแรงสนับสนุน
นิทรรศการศิลปนิพนธ์ “67 ริกเตอร์” โดยนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีสุดท้าย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดแสดงถึงวันที่ 16 มิ.ย.2558 ซึ่งกินพื้นที่ 4 หอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ