วันนี้ (1 ก.พ.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ใช้สิทธิตามโครงการรถคันแรก ร้องเรียนว่าไม่สามารถโอนรถยนต์ให้กับบุคคลอื่นได้ แม้จะครอบครองเป็นระยะเวลา 5 ปี ตามหลักเกณฑ์ของโครงการแล้ว
กรมการขนส่งทางบกแจ้งว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์แจ้งว่า รถคันดังกล่าวถูกกรมสรรพสามิตระงับการโอนสิทธิ
เมื่อเจ้าของรถสอบถามไปยังกรมสรรพสามิตได้รับคำชี้แจงว่า รถคันดังกล่าวเข้าข่ายถูกตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เนื่องจากขณะนี้ สตง.กำลังตรวจสอบกรมสรรพสามิต เพราะมีข้อสงสัยว่ากรมสรรพสามิตให้สิทธิรถยนต์คันแรกแก่ประชาชนจำนวนกว่า 100,000 ราย ที่ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเกินกำหนดเวลา
และหาก สตง. สรุปว่า ผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 100,000 ราย ทำผิดเงื่อนไขและไม่ควรได้รับสิทธิรถยนต์คันแรก เจ้าของรถกลุ่มนี้ต้องถูกตรวจสอบจาก สตง. และต้องนำส่วนลดภาษีมาคืนให้กรมสรรพสามิตทั้งหมด โดยหากผู้ใช้สิทธิต้องคืนเงินเฉลี่ยรายละ 100,000 บาท เท่ากับว่าประชาชนต้องคืนเงินให้รัฐบาลรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท
มีรายงานจากกรมสรรพสามิตว่า ผู้ใช้สิทธิตามโครงการที่มีปัญหาถูกตรวจสอบจาก สตง. มีอยู่ประมาณร้อยละ 1-2 ของผู้ใช้สิทธิทั้งหมด เนื่องจาก สตง.ท้วงติงว่าไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.อย่างเคร่งครัด ดำเนินการด้านเอกสารเกินกว่าเวลาที่กำหนด
เบื้องต้น กรมสรรพสามิต ระบุว่า มติ ครม.ที่กำหนดเงื่อนไขของโครงการมีอยู่ 2 ฉบับ ซึ่งมีการผ่อนปรนระยะเวลาการยื่นเอกสาร เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
สำหรับโครงการรถยนต์คันแรกดำเนินการเมื่อปลายปี 2554 กำหนดลดภาษีให้ผู้ซื้อไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ผู้ซื้อต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 21 ปี ขนาดรถยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี ต้องซื้อหรือจองตามกำหนดเวลา และต้องครอบครองไม่น้อยกว่า 5 ปี
จากข้อมูลของกรมสรรพสามิตเมื่อเดือนมีนาคม 2560 มีรถยนต์คันแรกที่ครอบครองมาครบ 5 ปี สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ 117,128 คัน คิดเป็นเงินภาษีที่มีการจ่ายคืนไปกว่า 11,800 ล้านบาท