ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการชี้ เด็ก"ขี้อาย-แตกต่าง-กลุ่มชาติพันธุ์" เป้าหมายถูกรังแก

สังคม
1 ก.พ. 61
19:24
1,940
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ เด็ก"ขี้อาย-แตกต่าง-กลุ่มชาติพันธุ์" เป้าหมายถูกรังแก
เด็กไทยรังแกกันเองในโรงเรียนพบแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ปัจจุบันติดอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น นักวิชาการชี้ ผู้ปกครองมักมองข้ามการปลูกฝังทักษะให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่น

สถานการณ์การแกล้งกันในโรงเรียนพบว่ามีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยและเป็นธรรมชาติของเด็กที่เล่นกัน แต่การใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดหรือแสดงออกทางพฤติกรรม ส่งผลกระทบกับเด็กในระยะยาว โดยหากเปรียบเทียบกับทั่วโลกประเทศไทยติดอันดับ 2 ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึง ร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ผลสำรวจโครงการติดตามสถานการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่า แต่ละปีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษามากถึง 600,000 คน

 

 

ขณะที่เด็กที่มีนิสัยขี้อายขาดความมั่นใจในตัวเอง เงียบขรึม กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ มักตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของการถูกเพื่อนรังแก ลักษณะการรังแกที่พบบ่อย คือ ทำร้ายจิตใจ ด้วยการพูดจาล้อเลียน การทำร้ายร่างกาย รีดไถเงิน แย่งชิงสิ่งของ กีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม และที่น่าห่วงมากที่สุดขณะนี้ การกลั่นแกล้งผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อความ รูปภาพ คลิปวิดีโอ

 

 

นายธวัชชัย พาชื่น ผู้จัดการโครงการไม่รังแกกัน มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า ความรุนแรงในโรงเรียนเกิดได้ทั้งวาจาและร่างกาย ส่งผลกระทบต่อจิตใจ และเมื่อเด็กถูกกระทำซ้ำๆ ก็จะซึมซับการใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว รวมถึงไม่กล้าบอกครูและผู้ปกครอง แต่เลือกใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเองกับเพื่อน

ผศ.สมบัติ ตาปัญญา นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า เด็กที่ชอบกลั่นแกล้งเพื่อน หรือใช้ความรุนแรง ส่วนใหญ่เคยเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน ขณะที่เด็กที่ถูกกระทำ เมื่อถูกกระตุ้นจนเกิดความกดดันมากๆ ก็จะตอบสนองออกมาด้วยวิธีการรุนแรง ที่ผ่านมาผู้ใหญ่มักมองเป็นเรื่องปกติ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากกว่าการปลูกฝังทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นให้กับเด็ก

 

 

ผศ.สมบัติ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ธรรมชาติของมนุษย์จะเลือกแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้แก้ไขที่รากเหง้าของปัญหา แก้โดยการลงโทษ หรือใช้ความรุนแรงต้องใช้วิธีการที่เรียกว่ายั่งยืน ต่อเนื่องจนกลายเป็นวัฒนธรรมหรือบรรทัดฐานของสังคม

ขณะที่การรังแกกันมีผลกระทบต่อทั้งผู้กระทำและผู้ถูกระทำ ทั้งทางอารมณ์จิตใจร่างกายและคุณภาพชีวิต ซึ่งระยะสั้นส่งผลเสียต่อการเรียน สุขภาพจิต ขณะที่ระยะยาวอาจมีผลต่อการปรับตัวในสังคม นำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว และต่อต้านสังคม ซึ่งจะกระทำต่อผู้อื่นต่อๆ ไปอีก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง