การเพิ่มสิทธิประโยชน์ครั้งนี้มีเป้าหมายส่วนหนึ่งเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบ เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ทั่วถึงและเพิ่มมากขึ้น โดยนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สปส.ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจแรงงานนอกระบบ แบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ การเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ไม่เพิ่มเงินสมทบ หรือทางเลือกเดิม ซึ่งปัจจุบันผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบ 2 อัตรา โดยให้เลือกในอัตราเดือนละ 70 บาท และอัตราเดือนละ 100 บาท จะได้รับสิทธิเพิ่มเป็นเงินทดแทนกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยกรณีนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นวันละ 300 บาท
กรณีไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ วันละ 200 บาท จากเดิม หากป่วยและหยุดงาน ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้รวมกันไม่เกิน 30 วันต่อปี ส่วนกรณีไปพบแพทย์และไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวไม่ถึง 3 วัน จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ครั้งละ 50 บาท ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง
ส่วนอีกทางเลือก คือ เพิ่มความคุ้มครองและเพิ่มเงินสมทบ โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท เพิ่มเงินทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นวันละ 300 บาท กรณีไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท
กรณีนอนพักรักษาตัวกับไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้รวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี อีกทั้งเพิ่มเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพเป็นตลอดชีวิต เพิ่มค่าทำศพเป็น 40,000 บาท เพิ่มเงินบำเหน็จชราภาพเป็นเดือนละ 150 บาท ส่งเงินครบ 180 เดือน ให้เงินเพิ่มอีก 10,000 บาท เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรคนละ 200 บาท คราวละไม่เกิน 2 คน บุตรแรกเกิดแต่ไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว สปส.จะต้องออกกฎหมายรองรับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานนอกระบบ ขณะนี้ได้เสนอกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา