วันนี้ (18 ก.พ.2561) กรุงเทพโพลล์ เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ความเห็นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผิดผู้กระทำความผิด" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,202 คน พบว่า คดีที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า จะไม่สามารถเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ 3 คดี คือ ร้อยละ 64.2 คดีนายเปรมชัย กรรณสูต ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, ร้อยละ 53.3 คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต และร้อยละ 50.4 คดีวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย
ส่วนคำถามว่าจากเหตุการณ์ หรือคดีที่ผ่านมา คิดว่าคนกลุ่มใดเมื่อทำความผิดแล้วกระบวนการยุติธรรมยากที่จะเอาผิด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 69.2 เห็นว่าเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล รองลงมาร้อยละ 36.6 คือนักการเมือง ร้อยละ 61.5 คือคนรวย หรือมีผู้ฐานะทางสังคมสูง ร้อยละ 45.2 คือข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และร้อยละ 21.1 คือพระสงฆ์
สำหรับความเห็นต่อการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรม พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.6 เห็นว่ามีช่องโหว่ให้ผู้กระทำผิดพ้นผิด รองลงร้อยละ 28.6 เห็นว่าดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานเลือกปฏิบัติ และร้อยละ 23.6 เห็นว่าการลงโทษผู้กระทำผิดยังเบาไป ไม่รุนแรง ทำให้ไม่เกรงกลัวและกลับมาทำผิดอีก ส่วนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.7 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ร้อยละ 28.3 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ความเห็นต่อกระแสโซเชียลและสื่อมวลชนที่มาช่วยตรวจสอบและตีแผ่เหตุการณ์หรือคดีต่างๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 61.3 เห็นว่าจะช่วยตรวจสอบอีกด้านทำให้สังคมรู้โดยละเอียด รองลงมาร้อยละ 57.4 เห็นว่าจะทำให้คดีคืบหน้าเร็ว จับตัวคนผิดได้เร็ว และร้อยละ 54.8 เห็นว่าจะมีส่วนทำให้ตำรวจต้องจริงจังในการทำงานหาหลักฐาน เพื่อปิดคดีให้ได้เร็ว