วันนี้ (21 ก.พ.2561) กรมสรรพสามิต ชี้แจงรายละเอียดมาตรการจัดเก็บภาษีปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ (CO2) จากรถจักรยานยนต์ หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามาตรการดังกล่าว ส่งผลกระทบเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย
กรมสรรพสามิต ระบุว่า ปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นการจัดเก็บตามหลักการความฟุ่มเฟือย โดยแบ่งประเภทของอัตราภาษีตามขนาดความจุของกระบอกสูบ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้น จึงมีแนวคิดในการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นไปตามหลักการจัดเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม และจะส่งผลดีต่อการสนับสนุนขีดความสามารถ ในการแข่งขันของผู้ประกอบอุตสาหกรรมในประเทศ ในการพัฒนาเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
การศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามอัตราการปล่อย CO2 พบว่า ปัจจุบันรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในประเทศ จำนวนร้อยละ 80 เป็นรถจักรยานยนต์มีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 150 ซีซี มีราคาขายปลีกประมาณ 30,000 – 50,000 บาทต่อคัน ซึ่งมีภาระภาษีสรรพสามิตประมาณ 750 – 1,250 บาทต่อคัน หากมีการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามอัตราการปล่อย CO2 จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพียงร้อยละ 0.5 ของราคาขายปลีก หรือมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 150 – 250 บาทต่อคัน ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มราคาขายปลีกรถจักรยานยนต์แต่อย่างไร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เล็งเก็บภาษีสรรพสามิตมอเตอร์ไซค์ เชื่อไม่กระทบผู้มีรายได้น้อย