ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรีนพีซ มอบ "นาฬิกาทรายฝุ่น" กระทุ้งรัฐบาลสางมลพิษทางอากาศ

สิ่งแวดล้อม
22 ก.พ. 61
17:15
652
Logo Thai PBS
กรีนพีซ มอบ "นาฬิกาทรายฝุ่น" กระทุ้งรัฐบาลสางมลพิษทางอากาศ
กรีนพีซ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยส่งมอบ "นาฬิกาทราย" ที่บรรจุฝุ่นจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชี้วิกฤตมลพิษ PM2.5 เป็นวาระเร่งด่วน

วันนี้(22 ก.พ.2561) นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมนักกิจกรรมกรีนพีซ นำเสนอนาฬิกาทรายที่บรรจุ บรรจุฝุ่นที่เก็บรวบรวมจากพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษจากในกรุงเทพฯ และจากหลายจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ เพื่อส่งมอบให้กับตัวแทนนายกรัฐมนตรีบริเวณด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล

โดยนาฬิกาทรายเป็นสัญลักษณ์ถึงความเร่งด่วน ของวิกฤตมลพิษทางอากาศที่รัฐบาลต้องลงมือทำในทันทีก่อนที่จะสายเกินไป โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากภาคการคมนาคม การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการผลิต และการเผาในที่โล่ง ทั้งนี้นักกิจกรรมกรีนพีซยังได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลด้วย 

 

 

“คนกรุงเทพฯ ไม่สมควรที่จะสูดอากาศที่มีฝุ่นพิษต่อไป มลพิษทางอากาศเป็นอันตรายต่อชีวิตของคน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมถึงต่อเมืองที่มีบทบาทสำคัญอย่างกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยตำแหน่ง จะต้องสั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ ยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 และระบบการรายงานคุณภาพอากาศที่ทันสมัยโดยทันที และเสนอแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นและจริงจังเพื่อจัดการกับวิกฤตมลพิษ PM 2.5 ไม่ใช่การยื้อเวลาออกไป เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน”


กรีนพีซ ทำการจัดลําดับเมืองที่มีเผชิญกับมลพิษ PM2.5 ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนถึงปัจจุบัน โดยมีข้อค้นพบที่สำคัญคือ คุณภาพอากาศในพื้นที่เมืองยังอยู่ในระดับแย่และมีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่เมืองส่วนใหญ่รวมถึงกรุงเทพมหานครมีความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีเกินเกณฑ์มาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของประเทศไทยและทุกเมืองมีความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีเกินระดับที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ความเข้มข้นของ PM2.5 ในพื้นที่เมืองของประเทศไทยยังคงเป็นตัวชี้วัดที่อยู่ในระดับแย่และยังไม่มีเป้าหมายรับมือ

 



จากข้อมูลพบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 21 ก.พ.นี้ กรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุด ในจำนวนรวม 52 วัน บางพื้นที่มีความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 40 วัน  

ในจดหมายเปิดผนึกที่ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องนโยบายจัดการคุณภาพอากาศ PM2.5 ของประเทศไทย กรีนพีซย้ำว่า การที่จะไปให้ถึงวิสัยทัศน์ “อากาศสะอาดเพื่อเราทุกคนที่รัฐบาลตั้งไว้ในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี รัฐบาลจะต้อง  กําหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 และปรอทที่แหล่งกําเนิดที่อยู่กับที่ รวมถึงการตรวจวัดและรายงานการปล่อย PM2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

นอกจากนี้ต้อง ตั้งเป้าหมายการลดการสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปของกลุ่มประชากรลงอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 30 ภายในระยะเวลาของการดำเนินงานในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี  เพิ่มเป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศให้เป็นตัวชี้วัดในแผนยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน ติดตามตรวจสอบและรายงานความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) และสารมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง