ภาพ เจ้าด้วน ด่านลอย ที่ออกมายืนรอรถบรรทุกอ้อย บนถนนสายฉะเชิงเทรา-วังน้ำเย็น อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา อาจไม่แปลกตาสำหรับผู้ที่ใช้ถนนสาย 3259 แห่งนี้ เป็นทางสัญจรไปมา
เนื่องจากถนนสายนี้เป็นทางลัดจากภาคกลาง ไปสู่ภาคตะวันออก ผ่านพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ที่มีพื้นที่ติดกัน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะช้างป่า
พื้นที่ 1.3 ล้านไร่ มีช้างมากถึง 424 ตัว อาศัยหากินอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน 277 ตัว กว่า 100 ตัว ออกนอกเขตป่าไปหากิน ในพื้นที่ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต และตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีจำนวนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ในจำนวนช้างเหล่านี้ มีทั้งออกไปแล้วกลับเข้าป่า ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ อีกส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ พยายามแก้ปัญหา ด้วยการขุดคูกั้นช้างแต่ด้วยความฉลาดของช้างเหล่านี้ จึงหาจุด หรือช่องทางข้ามคูกลับออกไปหากินด้านนอกได้
โดยมีเจ้าหน้าที่ติดตามฝูงช้างแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ในทุกกลุ่ม จนเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้วหลายครั้ง
จากสถิติของกรมอุทยานแห่งชาติฯ พบว่า มีสัตว์ที่ตายเพราะรถยนต์ที่แล่นผ่านถนนสายนี้จำนวนมาก ในช่วงปี 2541-2542 มีสัตว์ถูกรถชนตาย เกือบ 3,000 ตัว เป็นเก้ง-กวาง 298 ตัว นก 164 ตัว สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 1,700 ตัว และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 700 ตัว และมากที่สุดถึงปีละ 14,000 ตัว
นอกจากนี้ยังพบปัญหารุนแรงมากขึ้น เมื่อช้างป่าทำร้ายคนที่สัญจรไปมาเสียชีวิตถึง 3 คน ได้รับบาดเจ็บ 3 คน ช้างถูกรถชนตาย 3 ตัว แต่หลังจากปิดถนน ทำให้สถิติการตายของสัตว์ป่าลดลงคืนละ กว่า 900 ตัว
เปิดเส้นทางสายมรณะ ผ่าป่าอ่างฤาไน
หากจะเดินทางจากจังหวัดฉะเชิงเทราไปภาคตะวันออก ถนนสายนี้จะช่วยย่นระยะทางได้มาก ไม่กังวลเรื่องรถไม่ติด เพราะตัดตรงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงไม่แปลกที่มีรถจำนวนมาก ใช้เส้นทางนี้
ถนนสาย 3259 นี้ มีระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อ ปี 2532 โดยกรมการทหารช่าง กองทัพบก ผ่านป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบบ-สียัด จ.ฉะเชิงเทรา กับ สงวนแห่งชาติป่าเขาฉกรรจ์-โนนสาวเอ้ จ.สระแก้ว เชื่อมต่อระหว่าง อ.สนามชัยของจ.ฉะเชิงเทรา กับ อ.คลองหาด จ.สระแก้ว
ช่วงผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มีระยะทาง 17 กิโลเมตร
ปี 2540 กองทัพบกโอนการดูแล ให้อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงได้ประกาศเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3259
ปี 2542 เริ่มเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนช้างป่าบนถนนหลวงสายนี้ และจนถึงปัจจุบันมีรถชนช้างป่าแล้ว 12 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 คน
บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 23-25 โดยเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ช่วงเวลากลางคืน 18.00-03.00 น.
เสนอปิดถนนถาวร ช่วยชีวิตสัตว์ป่า
จากการสำรวจพบว่า ปี 2541-2542 มีรถแล่นผ่านถนนสายนี้ 299,298 คัน และในช่วงเวลาเดียวกัน มีสัตว์ป่าถูกทับตาย 14,408 ตัว
ปี 2550 มีการปิดถนนสายนี้ เป็นการชั่วคราวระหว่างเวลา 21.00 – 05.00 น.จำนวน 4 ครั้ง คือ วันที่ 15 มี.ค.-15 เม.ย.2550 วันที่ 11 มิ.ย.- 11 ก.ย.2550 วันที่ 12 ก.ย.-12 ธ.ค.2550
และวันที่ 12 ธ.ค.2550-12 มิ.ย.2551 เพื่อประเมินมาตรการลดหรือบรรเทาผลกระทบกับสัตว์ป่า
ต่อมาปิดอีกครั้ง 1 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 – มิถุนายน 2552 ซึ่งสามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าให้รอดชีวิต ได้ถึง 13,158 ตัว
ปี 2551 มีการเสนอให้ปิดถนนสาย 3259 เป็นการถาวร แต่ไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า มีการสัญจรของคนหลายตำบล แต่เห็นควรให้ปิดชั่วคราว ระหว่างเวลา 21.00 – 05.00 น.ทุกวัน
ต่อมา วันที่ 29 พ.ย.2554 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ขอให้กรมทางหลวง ขยายเวลาปิดการจราจรจากเดิม 21.00 – 05.00 น. เป็น 18.00-06.00 น. และเสนอมาตรการระยะยาวให้ปิดการจราจรตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการถาวร
ปี 2556 - 2558 มีการบังคับใช้มาตรการปิดถนน 2 ช่วงเวลา แบ่งเป็น หลังเวลา 21.00 น.-05.00 น. ระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นฤดูขนส่งผลผลิตทางการเกษตร และระหว่างเวลา 06.00-18.00 น. ในช่วงเดือน เม.ย.เป็นต้นไป
และเมื่อมีเหตุการณ์รถยนต์ชนช้างเมื่อวานนี้ กรมอุทยานฯ จึงมีคำถามว่า ควรจะเสนอให้ปิดการจราจรบนถนนสายนี้อีกครั้ง