เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ธนาคารโลกเคยระบุว่า แม่น้ำชิตารุม ความยาว 300 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของชวาตะวันตก เป็นแม่น้ำที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ระดับของสารพิษสูงเกินค่ามาตรฐาน 1,000 เท่า
แม่น้ำสายนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตตั้งแต่ช่วงปี 1980 เนื่องจากมีการก่อตั้งเขตอุตสาหกรรม ทำให้มีโรงงานจำนวนมากตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งพลังงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง หล่อเลี้ยงประชาชน 30 ล้านคน แม้จะมีสำคัญต่อชีวิตของผู้คน แต่แม่น้ำสายนี้กลับกลายเป็นที่รองรับสารพิษจากโรงงาน แต่ละวันโรงงานจะปล่อยน้ำเสียประมาณ 280 ตันลงแม่น้ำ รวมทั้งประชาชนที่ทิ้งขยะลงแม่น้ำด้วย มาตรการเบื้องต้นของรัฐบาล คือออกคำสั่งให้โรงงานทุกแห่งบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ และติดตั้งกล้องวงจรปิดตามแนวตลิ่ง เพื่อป้องกันประชาชนแอบทิ้งขยะลงแม่น้ำ นอกจากนี้ จะระดมกำลังตำรวจและทหาร ทำความสะอาดแม่น้ำ
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และสำนักงานวางแผนพัฒนาแห่งชาติของอินโดนีเซีย ประเมินว่า การทำความสะอาดแม่น้ำชิตารุมจะต้องใช้งบประมาณ 420,000 ล้านบาท และต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี แต่รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าจะทำให้สำเร็จภายใน 7 ปี โดยในปี 2025 น้ำในแม่น้ำจะต้องสะอาดจนดื่มได้ และจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการนำกำลังทหารและตำรวจมาช่วยกันทำความสะอาดแม่น้ำ
รัฐบาลอินโดนีเซียเคยวางแผนทำความสะอาดแม่น้ำเมื่อ 7 ปีก่อน แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ส่วนการดำเนินการในครั้งนี้ นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนี จะรับผิดชอบและสั่งการโดยตรง