วันนี้ (5 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก Thailand Tiger Project ได้นำคลิปของเสือดำ ความยาวประมาณ 10 วินาทีที่ถ่ายได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2560 ช่วงเวลา 16.11 น.โดยพบว่าเสือดำ กำลังพยายามคุ้ยๆ หลังจากการถ่ายมูลแล้วเสร็จ
โดยทางเฟชบุ๊ก อธิบายว่า เสือดาว-ดำ จัดเป็นผู้ล่าที่สำคัญของนิเวศป่าไม้ มีพฤติกรรมหลายอย่างคล้ายคลึงกัน หนึ่งในนั้นคือ เป็นสัตว์ที่หวงอาณาเขตจึงต้องมีการแสดงการหมายอาณาเขตเพื่อไม่ให้เพศเดียวกันมาลุกล้ำแย่งชิงเพื่อใช้ประโยชน์ทั้ง เหยื่อ และเพศเมีย
การคุ้ยพร้อมทั้งถ่ายมูล ปัสสาวะ หรือ หลั่งของเหลวทิ้งไว้ เป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยสำหรับเสือดาว-ดำ แต่ก็ยังไม่พบว่าเสือดาว เสือดำ ที่ห้วยขาแข้ง แสดงการหมายอาณาเขตโดยการพ่นปัสสาวะใส่ต้นไม้อย่างที่เสือโคร่งนิยม
นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ ห้วหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ
นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ ห้วหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กล่าวว่า พบว่าเสือดาว เสือดำ จะมีพฤติกรรมต่างกับเสือโคร่ง คือเวลาเขาไปไหนมาไหนจะมาร์กพื้นที่โดยใช้ตีนด้านหลังตะกุยไปมาตามทาง หยุดคุ้ย และฉี่ใส่ เป็นการสื่อสารให้เสือที่จะเข้าในพื้นที่ เป็นการแสดงอาณาเขตบริเวณนั้นให้รู้ว่าจุดนั้นมีเจ้าของแล้ว
ทั้งนี้จากการศึกษาเสือโคร่งในป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง โดยติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ทำให้พบมีเสือดาว เสือดำปรากฎในกล้องดักถ่ายภาพประมาณ 130 ตัว และหักลบเสือดำป่าทุ่งใหญ่ที่ตายไป 1 ตัว สัดส่วนที่เราเจอ 1 ใน 3 ของเสือดาว จะมีภาพเสือดำ 2 ตัว เราศึกษานิเวศวิทยา และดูเรื่องการใช้พื้นที่
นายสมโภชน์ กล่าวว่า เสือดาวก็จะมีจุดที่่ตัวมัน แต่เสือดำจะมีจุดๆ บางๆที่ตัว ต้องเข้าไปดูใกล้ๆถึงจะมองเห็น ในอนาคตนักวิจัยวางแผนที่ทำรหัสให้กับเสือดาว เสือดำทั้ง 129 ตัว และตั้งชื่อเสือทุกตัวแบบเดียวกับที่ตั้งชื่อเสือโคร่งทุกตัวในป่าห้วยขาแข้ง เพื่อใช้ในการติดตามวิจัยต่อกลุ่มครอบครัวของเสือดาวในป่าไทย และเรามีแผนที่จะศึกษาการปฎิสัมพันธ์ระหว่างเสือโคร่งกับเสือดาว ในพื้นที่เดียวกันว่ามีการแก่งแย่งพื้นที่กันหรือไม่
โดยการจำแนกเสือดาว เสือดำ แต่ละตัวจะต้องดูลายของแต่ละตัวที่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการบางส่วนไว้แล้ว ต้องทำรหัส ตั้งชื่อ และศึกษานิเวศของกลุ่มเสือดาว เสือดำ
นอกจากนี้กรมอุทยานฯ ยังสนับสนุนงบประมาณเพื่อติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเพิ่มเติมใน 3 พื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก แก่งกระจาน ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เพื่อใช้ในการศึกษาสัตว์ป่าด้วย เพราะในหลายพื้นที่ช่วยให้เรารู้ว่ามีสัตว์ป่าหากิน และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน
(คลิปเสือดำ จากโครงการ Thailand Tiger Project)