วันนี้ ( 8 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการรับมือการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในหลายจังหวัดของประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พบว่าสถานการณ์ขณะนี้ถือว่ารุนแรงจึงเป็นห่วงเรื่องการสำรองวัคซีนและเซรุ่ม
ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก มีคำแนะนำสำหรับประเทศไทยให้พิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนแผนการฉีดวัคซีนและเซรุ่มในคนมาแล้ว 2 ครั้ง คือช่วงปลายปี 2560 และต้นปี 2561 จึงได้เสนอที่ประชุมให้ปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ
1.การฉีดวัคซีนเดิม มีระยะเวลาการฉีดให้ครบชุดรวม 28 วัน กินเวลานานยุ่งยาก จึงขอให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นภายใน 7 วัน และฉีดเข้าใต้ผิวหนังแทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เพราะสามารถประหยัดการใช้วัคซีนได้ครึ่งหนึ่ง
2.เซรุ่มที่ฉีดให้ผู้ที่ถูกสุนัขกัด เดิมต้องฉีดทดสอบที่ผิวหนังก่อนว่ามีอาการแพ้หรือไม่ แต่ที่ผ่านมาพบว่า บางคนเมื่อฉีดจริงก็ยังแพ้ จากนี้ไปจึงไม่ควรเสียเวลาทดสอบ แต่ให้ฉีดอย่างระมัดระวัง และให้เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง และให้ฉีดทั้งวัคซีนและเซรุ่มกับผู้ที่ถูกกัดพร้อมกันไปในคราวเดียว ซึ่งข้อเสนอแนะนี้ กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างพิจารณา คาดจะใช้เวลาประชุม 1-2 เดือน
นอกจากนี้ยังได้เสนอให้ปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้า ให้แก่ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง และในระยะยาวอาจต้องให้บรรจุวัคซีนชนิดนี้ เป็นวัคซีนพื้นฐานเหมือนกับวัคซีนบีซีจีด้วย
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกรณีเกิดโรคระบาดพิษสุนัขบ้าว่า ได้เน้นย้ำกรมปศุสัตว์และหน่วยงานในพื้นที่ ทำงานให้ฉับไวมากขึ้น ขณะนี้ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดพิษสุนัขบ้า 31 จังหวัด ให้เร่งฉีดวัคซีนในบริเวณรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่พบเชื้อโรคที่ตรวจจากหัวสุนัข ส่วนพื้นที่โรคระบาด 13 จังหวัด สามารถคุมสถานการณ์ได้แล้วไม่น่าขยายเพิ่ม