วันนี้ (8 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีและภาคีเครือข่ายร่วมกิจกรรมขบวนรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อนำเสนอปัญหาและนโยบายสิทธิสตรี โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดความมั่นคงของผู้หญิง คือความมั่นคงของชาติ
สำหรับข้อเรียกของปีนี้ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านๆ มา คือเน้นการนำเสนอนโยบายสิทธิสตรีที่ยึดโยงกับการแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน อย่างขบวนของกลุ่มผู้หญิงที่ใส่ชุดคลุมท้อง และมีหมวก 120 วัน คือการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องขอให้รัฐให้ความสำคัญกับผู้หญิงในการดูแลบุตร ขยายวันลาคลอดจากที่กำหนดไว้ 90 วัน ซึ่งพวกเขาเห็นว่ายังไม่เพียงพอกับการดูแลเด็กเล็กที่เป็นวัยสำคัญต้องได้รับการดูแลเพื่อการพัฒนาอย่างสมบูรณ์และใกล้ชิดจากมารดา ให้ขยายเพิ่มมากขึ้นเป็น 120 วัน ซึ่งสอดคล้องกับการต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา
นอกจากนี้ รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนเวลาเปิด - ปิดศูนย์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน, รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิงในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติและทุกระดับอย่างน้อย 1 ใน 3, รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี, รัฐต้องให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและการบริการเท่าเทียมกับคนทั่วไป, รัฐต้องจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงและเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และในพื้นที่สาธารณะ และรัฐต้องเคารพสิทธิการพัฒนาของประชาชนและผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
น.ส.นิไลมล มนตรีกานนท์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เปิดเผยว่า แม้ข้อเรียกร้องบางส่วนจะถูกขับเคลื่อนแล้ว เช่น เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็ก และศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน แต่ยังผลักดันได้ไม่ทั่วถึง สาเหตุสำคัญเป็นเพราะขาดการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเข้าไปเสนอปัญหาและแนวนโยบายในการแก้ไข
ล่าสุด กลุ่มเครือข่ายสตรีได้เคลื่อนขบวนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว โดยกลุ่มสตรีที่เข้าร่วมกิจกรรมจะนำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไขของแต่ละภาคส่วนผ่านเวทีจำลอง "พรรคบูรณาการแรงงานสตรี" รวมถึงร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ และข้อเรียกร้องวันสตรีสากลในปีนี้