ปลอดจากความรุนแรงทุกรูปแบบ แสดงความเห็นได้เสรี ไร้การคุกคาม และต้องปลอดจากยาเสพติด
การประกาศพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการพูดคุยสันติสุขระหว่างฝ่ายไทยและกลุ่มมาราปาตานีในระยะแรก เพราะถือเป็นตัวชี้วัดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่าง 2 ฝ่าย หลังเปิดโต๊ะพูดคุยสันติสุข
พล.ต.สิทธิ์ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า นอกจากพื้นที่ปลอดภัยจะเป็นกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว หากประสบความสำเร็จจะยังนำไปสู่การสร้างโรดแมปสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
โดยนิยามของคำว่า "พื้นที่ปลอดภัย" ตามข้อตกลงของ 2 ฝ่าย คือ พื้นที่ที่ปลอดจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี ไร้การคุกคาม และต้องปลอดจากยาเสพติด
ส่วนปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยคือ “กลุ่มมาราปาตานีต้องเชื่อมั่นว่าสามารถพูดคุยกับแนวร่วมในพื้นที่ไม่ให้ก่อเหตุความรุนแรงได้ แต่หากยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ต้องสามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ หากไม่สามารถพิสูจน์ได้เกิน 3 ครั้ง ถือว่าข้อตกลงเรื่องพื้นที่ปลอดภัยล้มเหลว”
ไทยพีบีเอสออนไลน์ยังตั้งคำถาม 3 ข้อ ที่เป็นข้อสงสัยของคนในพื้นที่ และนี่คือคำตอบจากเลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขในพื้นที่
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : สาเหตุที่ไม่ประกาศพื้นที่ปลอดภัยอย่างเป็นทางการ หลังมีข่าวมาก่อนหน้านี้ เพราะกังวลเรื่องการตกเป็นเป้าก่อเหตุหรือเป็นอำเภอกระสุนตกใช่หรือไม่
พล.ต.สิทธิ์ : เราจะประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนนี้ มีคนถามเหมือนกันว่าทำไมไม่แถลงก่อน คำตอบคือเป็นการเสียมารยาท เพราะเรามีข้อตกลงร่วมกันบนโต๊ะพูดคุยว่าทั้งฝ่ายไทยและกลุ่มมาราปาตานีจะออกแถลงการณ์ร่วมกัน หากการเตรียมพื้นที่ยังไม่พร้อม อาจเกิดกระแสการตกเป็นเป้าท้าทายหรือกลายเป็นอำเภอกระสุนตก แต่เมื่อคนในพื้นที่เห็นชอบและร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย ภายใต้การดูแลความปลอดภัยจากทั้งสองฝ่าย เชื่อว่าความกลัวจะหมดไป
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : การสร้างพื้นที่ปลอดภัยจะสำเร็จหรือไม่ ในเมื่อมีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มมาราปาตานี ไม่มีตัวแทนบีอาร์เอ็นฝ่ายกองกำลังเข้าร่วม
พล.ต.สิทธิ์ : ผมว่าต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ การพูดคุยสันติสุขครั้งแรกก็มีคนตั้งคำถามว่าคุยกับใคร ตัวจริงหรือไม่ ตามมาด้วยคำถามว่ามีบีอาร์เอ็นร่วมด้วยหรือไม่ และเป็นบีอาร์เอ็นกลุ่มกองกำลังหรือไม่ ผมในฐานะคนทำงานยืนยันว่ามีบีอาร์เอ็นฝ่ายกองกำลังอยู่ในมาราปาตานี
แต่ก็มีคำถามอีกว่า ถ้าเป็นกลุ่มที่ติดอาวุธจะไม่ขึ้นโต๊ะเจรจา ต้องถามกลับว่าบีอาร์เอ็นในความเข้าใจของสังคมกับความเข้าใจของผมมันตรงกันหรือไม่
ข้อเสียของบีอาร์เอ็นคือเป็นองค์กรลับ ไม่มีใครเข้าถึงและไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริง แต่ทุกวันนี้มีคนพยายามนำบีอาร์เอ็นมาสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ว่าสามารถพูดคุยหรือติดต่อกับคนกลุ่มนี้ได้ ต้องถามสังคมว่าจะเชื่อใคร ระหว่างคนที่ทำงานและไปคุยจริง กับคนที่พยายามสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : คนในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างไรในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย
พล.ต.สิทธิ์ : เบื้องต้นพื้นที่ปลอดภัยถูกกำหนดโดย 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายไทย หรือปาร์ตี้เอ และกลุ่มมาราปาตานี หรือปาร์ตี้บี แต่ทั้งสองฝ่ายต่างมีคนในพื้นที่และสื่อสารโดยตรง โดยลงไปรับฟังในพื้นที่อยู่แล้ว คนในพื้นที่เข้าใจและสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย แต่ยอมรับว่าอาจรับรู้เพียงบางส่วน
ในเดือนเมษายนนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายมาราปาตานี จะแถลงร่วมชี้แจงการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย 1 อำเภอนำร่อง เริ่มต้นจากการตั้งเซฟเฮ้าส์หรือสถานที่ทำงาน จากนั้นเดือนมิถุนายนจะมีคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ปลอดภัย หรือ JAC ซึ่งจะมีตัวแทนจากภาคประชาสังคม รวมถึงตัวแทนจากฝ่ายไทยและฝ่ายมาราปาตานีเข้าร่วม เพื่อลงพื้นที่สำรวจความต้องการของประชาชน ร่วมกันออกแบบพื้นที่ปลอดภัย และทิศทางการพัฒนาพื้นที่ ก่อนจะเริ่มประเมินผลตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2561
ซึ่งหากประสบผลสำเร็จ ก็จะเข้าสู่การพูดคุยสันติสุขในเฟส 2 หรือการคุยลงลึกในรายละเอียด ครอบคลุมทั้งเรื่องการเมืองการปกครอง กระบวนการยุติธรรม และการศึกษา เพื่อหาเงื่อนไขหรือปัจจัยที่ทำให้คนออกมาตั้งกระบวนการเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และอะไรที่หล่อเลี้ยงกระบวนการนี้
ก่อนจะก้าวไปสู่โรดแมปที่ 3 ในการตั้งผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ทั้งการเมืองการปกครอง กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เพื่อมาศึกษาแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่แนวทางการสร้างความสงบในพื้นที่ โดยเลขานุการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ยืนยันว่า แม้จะมีการผลัดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็จะไม่กระทบกับการทำงานตามโรดแมป เพราะรัฐบาล คสช.ได้วางทั้งกลไกคณะทำงาน และมีแผนรองรับการทำงานอย่างชัดเจน
พเยีย พรหมเพชร ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส รายงาน