ปภ.ชี้พายุนกเตนทำชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 1 ล้านคน

ภูมิภาค
8 ส.ค. 54
02:21
13
Logo Thai PBS
ปภ.ชี้พายุนกเตนทำชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 1 ล้านคน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุว่า อิทธิพลจากพายุนกเตน ทำให้ขณะนี้มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 1 ล้านคนใน 21 จังหวัด ขณะที่สถานการณ์น้ำแม้จะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้วในหลายจังหวัด แต่ในพื้นที่ภาคกลางก็ยังน่าเป็นห่วง

สำหรับสถานการณ์น้ำในภาคเหนือขณะนี้คลี่คลายแล้วหลายจังหวัด แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังมีน้ำท่วมขังต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ โดยชาวบ้านบ้านฮวก หมู่ที่ 4 ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เร่งเก็บกวาดและทำความสะอาดบ้านเรือน หลังน้ำป่าจากลำห้วยริมไหลพัดเอาดินโคลนเข้าท่วมหมู่บ้าน โดยขณะนี้ระดับน้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 400 หลัง และพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายกว่า 1,000 ไร่
 
ชาวบ้านเชื่อว่า น้ำที่เข้าท่วมหมู่บ้านครั้งนี้เกิดจากฝายคอนกรีตที่กั้นลำห้วยที่อยู่เหนือหมู่บ้านที่ไม่สามารถรองรับน้ำในปริมาณมากได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาซ่อมแซม
 
ส่วนในเขตเทศบาลเมืองน่าน นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ได้สั่งปิดประตูระบายน้ำทั้ง 9 บาน และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 ตัว เพื่อสูบน้ำออก หลังระดับน้ำในแม่น้ำน่านสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
 
ส่วนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ล่าสุดทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 ได้ยุติการค้นหาชาวบ้านปู่ท่า ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่สูญหายแล้ว หลังญาติผู้ตายขอให้เจ้าหน้าที่ยุติการค้นหา เพราะเชื่อว่าน่าจะถูกน้ำพัดไป อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ทำพิธีฌาปนกิจผู้เสียชีวิตทั้ง 7 คนภายในหมูบ้าน เนื่องจากไม่สามารถนำร่างออกมาได้
 
แม้จะหยุดการค้นหาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังคงส่งอาหารและถุงยังชีพเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากนี้หากสภาพอากาศดีขึ้นก็จะเร่งฟื้นฟู เพราะภายในหมู่บ้านมีเศษไม้และก้อนหินจำนวนมาก
 
ส่วนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ชาวนาตำบลท่ามะเฟื่อง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่มีพื้นที่ทำนาอยู่ด้านเหนือถนน กำลังจะขุดถนนริมคลองหมู่ที่ 2 ตำบลพญาแมน เพื่อระบายน้ำ แต่ชาวนาของตำบลพญาแมนและตำบลตะลุกระเทียม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ไม่ยอม เพราะเกรงว่า น้ำจะไหลเข้าท่วมที่นา ซึ่งกำลังจะเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างโต้เถียงกัน จนเจ้าหน้าที่เข้ามาระงับเหตุ
 
ขณะที่สถานการณ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดนครพนม ได้ประกาศให้พื้นที่ทั้ง 12 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากเหตุอุทกภัย โดยเฉพาะในหลายพื้นที่ของอำเภอศรีสงครามและอำเภอท่าอุเทน ที่สถานการณ์น้ำยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากบางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านยังต้องใช้ชีวิตประจำวันด้วยความยากลำบาก และได้รับความเดือดร้อนจากพืชผลทางการเกษตรที่เสียหาย เนื่องจากจมน้ำเป็นเวลานาน
 
ส่วนที่จังหวัดบึงกาฬ ระดับแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นไม้และกิ่งไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากที่ไหลมากับกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ส่งผลให้ชาวประมงในหลายพื้นที่ต้องงดออกเรือหาปลาชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย
 
สำหรับในพื้นที่ภาคกลาง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มปริมาณมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มที่อำเภอบางบาล ล่าสุดผู้เลี้ยงปลากระชังริมแม่น้ำน้อยได้รับความเสียหายแล้วกว่า 50 กระชัง
 
นางเล็ก พิญญกิจ ผู้เลี้ยงปลากระชัง ระบุว่า ปลาที่อยู่ในกระชังเหลืออีกเพียง 1 เดือนก็จะจับขายได้ แต่เมื่อน้ำเหนือเริ่มระบายลงมา ทำให้ปลาเริ่มตาย และแม้จะต้องขาดทุน แต่ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการจับปลาขายก่อนกำหนด
 
สำหรับในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินใน 3 อำเภอ ประกอบด้วยอำเภอบางปะอิน, อำเภอบางไทร และอำเภอพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 34 ตำบล 173 หมู่บ้าน โดยวันนี้ (8 ส.ค.) จะประกาศเพิ่มอีก 5 อำเภอ คือ อำเภอบางบาล, อำเภอเสนา, อำเภอผักไห่, อำเภอบางปะหัน และอำเภอนครหลวง ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
 
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสรุปภาพรวมความเสียหายตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. จนถึงวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้จังหวัดที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินมีทั้งหมด 251 จังหวัด 155 อำเภอ 893 ตำบล 6,809 หมู่บ้าน มีเพียง 4 จังหวัดเท่านั้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว คือ จังหวัดน่าน, จังหวัดเลย, จังหวัดหนองคาย และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 
ส่วนยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดที่ยืนยันแล้วมี 20 คน บาดเจ็บอีก 11 คน สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง