เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.อ.ฐากร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ นายอานนท์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และนายสิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจร จิสด้า ร่วมกันสังเกตการณ์โคจรของอวกาศเทียนกง-1 ขณะเคลื่อนผ่านท้องฟ้าเหนือหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ สถานีรายงานอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ก่อนนับถอยหลังตกสู่พื้นโลก หลังจีนส่งเทียนกง 1 เข้าสู่วงโคจรในปี 2554 แต่ได้หมดอายุใช้งานและสูญเสียการควบคุม ตั้งแต่เดือน ก.ย.2558 เป็นที่มาให้นักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานด้านความมั่นคงทั่วโลกจับตามอง
รวมทั้งกองทัพอากาศที่ได้สังเกตการณ์เทียนกง 1 ผ่านกล้องโทรทรรศน์ติดตามดาวเทียม บนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นเป็นชาติแรกในอาเซียนที่นำมาใช้งาน
การเฝ้าตรวจสถานีอวกาศเทียนกง-1 ผ่านท้องฟ้าประเทศไทย ล่าสุด พบการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่า 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเป็นที่สังเกตว่าระยะความสูงของเทียนกง 1 เริ่มลดลงจาก 250 กิโลเมตร เหลือ 232 กิโลเมตร และตามวงรอบการโคจร เทียนกง 1 จะผ่านประเทศไทยครั้งสุดท้ายในช่วงวันที่ 25-26 มี.ค.นี้ ก่อนนับถอยหลังตกสู่พื้นโลก
เทียนกง-1 ต่างจากเศษชิ้นส่วนอวกาศอื่นๆ ที่เคยตกสู่โลก เพราะมีขนาดใหญ่ถึง 8.5 ตัน ปราศจากการควบคุมเหมือนดาวเทียมในวงโคจรทั่วไป และแม้ว่าจะถูกเผาไหม้เมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก แต่จะมีชิ้นส่วนหลงเหลืออีกร้อยละ10-40 ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบในด้านภัยพิบัติ หากตกสู่ชุมชน
การเปิดตัวยกระดับงานด้านอวกาศของกองทัพอากาศเต็มรูปแบบ ผ่านการเเฝ้าตรวจเทียนกง-1 ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี ที่มุ่งเน้นภารกิจในมิติทางอากาศ ไซเบอร์ และอวกาศ โดยภารกิจดูแลในห้วงอวกาศต้องเฝ้าระวัง ทั้งวัตถุที่เป็นอันตราย ขยะอวกาศและดูแลทรัพยากรทางอวกาศของไทย โดยเฉพาะดาวเทียมไทยคมทั้ง 6 ตำแหน่ง
เทียนกง-1 ที่มีความหมายว่าพระราชวังบนสรวงสวรรค์ กำลังจะกลายเป็นชิ้นส่วนขยะอวกาศขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกต่างตื่นตัวกับปัญหาขยะอวกาศในหลายรูปแบบ เพราะอาจจะส่งผลทั้งในด้านภัยพิบัติที่กระทบต่อประชาชนและความมั่นคง โดยการแอบแฝงอาวุธร้ายแรงมารูปแบบของขยะอวกาศ