วันนี้ (18 มี.ค.2561) เฟชบุ๊กของ Kanita Ouitavon ดร. กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้โพสต์ข้อความผลการตรวจสอบซากเนื้อสัตว์ที่พบในคดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ ของคณะนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเว๊ลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
ซึ่งนอกจากจะมีเสือดำแล้ว ดร.กณิตา ยังระบุว่า ในคดีล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ ครานี้ นอกจาก "เสือดำ" แล้ว ยังมี "ไก่ฟ้า" ตัวหนึ่งที่ตกเป็นเจ้าทุกข์กับเขาด้วย ซึ่งได้มีการรายงานผลเบื้องต้นไปแล้ว แต่ยังมิได้มีการยืนยันผลที่ถูกต้องกับพนักงานสอบสวน และยังไม่ได้ออกรายงานผลฉบับสมบูรณ์ เนื่องจากแล็บฯ นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ ขอวิเคราะห์ผลใหม่ เพราะพบบางจุดที่ยังทำให้ไม่มั่นใจในการสรุปผล...บัดนี้ เราวิเคราะห์ผลใหม่เสร็จเรียบร้อย และได้ความมั่นใจ 100% แล้ว
ขอสรุปผลว่าไก่ฟ้าตัวนี้ เป็น "ไก่ฟ้าหลังเทา" (Lophura leucomelanos) อย่างไรก็ตาม กว่าเราจะสรุปผลได้นั้นมีความท้าทายในการแก้ไขปัญหาหลายอย่างในแล็บฯ ก็จะขออธิบายให้กับท่านที่ยังมีข้อกังขาและข้อสงสัยในการวิเคราะห์ผลของเราอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าไม่สอดคล้องกับข้อมูลถิ่นอาศัยและเขตการแพร่กระจาย ถือว่าเป็นการแบ่งปันความรู้ในประเด็นงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ก็แล้วกัน
ภาพ:เฟชบุ๊ก Kanita Ouitavon
เฟชบุ๊ก ยังอธิบายอีกว่าการวิเคราะห์"ไก่ฟ้า" ทำให้พบว่าในเชิงวิจัยว่ายีน Cytochrome b นั้นไม่สามารถใช้แยกชนิดพันธุ์ระหว่างไก่ฟ้าหลังเทา และไก่ฟ้าหลังขาวได้ ส่วนข้อมูล D-loop ใน GenBank ก็อาจเป็นชนิดพันธุ์ย่อยอื่นที่ไม่มีในบ้านเราก็เป็นได้ การแก้ปัญหามีวิธีการเดียว คือ เราต้องหาข้อมูลอ้างอิงจาก"ไก่ฟ้าหลังเทา" และ"ไก่ฟ้าหลังขาว" ที่มั่นใจได้ว่ามีที่มามาจากบ้านเราเอง คือเป็นไก่ฟ้าในประเทศไทย ไม่ใช่มาจากที่ือื่น แล้วนำมาเปรียบเทียบกับไก่ฟ้าเจ้าทุกข์ตัวนี้ ซึ่งขอบอกว่าเป็นความโชคดีที่เราเจอหลังจากที่พยายามค้นหาสุดขีด แถมยังเป็นช่วง D-loop ที่เราทำใหม่ด้วย (ต้องขอขอบคุณเจ้าของข้อมูลอ้างอิงที่ช่วยงานนี้ไว้ได้ในครั้งนี้คือน้อง Kitichaya Penchart เจ้าหน้าที่ของเราเอง)การเปรียบเทียบข้อมูลคราวนี้ออกมาในรูปแบบของการสร้างความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ (Phylogenetic Tree - ดูภาพประกอบค่ะ) จะเป็นได้ว่าตัวอย่างที่เราได้รับในคดีนี้เข้ารวมกลุ่มกับไก่ฟ้าหลังเทา ก็เป็นอันสรุปได้แน่นอนแล้วว่าไก่ฟ้าตัวนี้เป็น "ไก่ฟ้าหลังเทา" หวังว่าทุกท่านคงเคลียร์แล้ว
ภาพ:ชุดพญาเสือ
ผลคราบเลือดบนใบไม้-ดินสรุป "เสือดำ"ถูกฆ่าในป่าชัวร์
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ดร.กณิตา ยืนยันว่า การที่ออกมาอธิบายกับสื่อสังคมออนไลน์เพราะต้องการให้สาธารณชนทราบว่าแล็บนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ทำงานตามมาตรฐาน และต้องการหาคำตอบทางนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ช่วยตอบในคดีอาชญากรรมสัตว์ป่า เพราะก่อนหน้านี้ทีมงานเคย รายงานผลเบื้องต้นว่าเป็นไก่ฟ้าหลังขาว แต่ได้บอกกับพนักงานสอบสวนว่าอยากจะขอตรวจสอบผลอีกครั้ง กระทั่งหาผลตรวจวิเคราะห์ผลใหม่ ที่สมบูรณ์ยืนยันว่าเป็นไก่ฟ้าหลังเทา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งผลออกมาแบบนี้ก็ยังอยู่ใน 9 ข้อหาคดีล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง
ขณะที่ยังมีผลตรวจดีเอ็นเอ คราบเลือดบนดิน และคราบเลือดบนใบไม้ ได้ข้อสรุปแล้วว่าเป็นเสือดำ ตัวเดียวกันกับชิ้นเนื้อ และอวัยวะอื่นๆที่รายงานไปแล้วก่อนหน้านี้ และตรงนี้เป็นหลักฐานจุดที่เชื่อมเหตุ การณ์ว่ามีการสังหารเสือดำและชำแหละในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่ เพราะลำพังถ้าเจอแค่ชิ้นเนื้อ ก็อาจจะพูดได้ มาจากที่อืนได้ ประกอบกับเมื่อรวมกับดีเอ็นเอของเสือดำ บนมีดเหน็บที่ใช้ชำแหละหนัง มีดอีโต้ และบนเขียง และตรงนี้เป็นข้อมูลที่จะนำเสนอไปอธิบ่ายในชั้นศาล ได้ทั้งหมด โดยวันที่ 19 มี.ค.นี้ จะส่งผลตรวจสอบเพิมเติมให้กับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เมื่อถามว่าทำไมดร.กณิตา ถึงระบุว่าพร้อมที่จะเป็นพยานในคดีดังกล่าว เธอระบุว่า เป็นหน้าที่ เต็มใจและมีความพร้อม ซึ่งในดคีอาชญากรรมสัตว์ป่ารายใหญ่ อาจมีแนวโน้มที่ศาลจะเรียกไปให้ข้อมูลการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า
อ่านข่าวเพิ่มเติม
หน.แล็บนิติสัตว์ป่าโต้เดือด “ศรีวราห์”กล่าวหาทำลายหลักฐานวัตถุพยาน
หน.ชุดพญาเสือ ชี้แจงขั้นตอนเก็บส่งวัตถุพยานคดีล่าสัตว์ป่า