ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“บุพเพสันนิวาส” สร้างโอกาสในแสงริบหรี่วงการหนังสือไทย

ไลฟ์สไตล์
4 เม.ย. 61
19:33
3,083
Logo Thai PBS
“บุพเพสันนิวาส” สร้างโอกาสในแสงริบหรี่วงการหนังสือไทย
ไทยพีบีเอสออนไลน์พามาเปิดแนวคิดการสร้างโอกาสในวงการหนังสือไทยที่กำลังซบเซาผ่านมุมมองของ “กวิยา เนาวประทีป” บ.ก.นวนิยายเรื่องบุพเพสินนิวาส ที่สร้างปรากฏการณ์ให้วงการหนังสือไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยเชื่อว่า “คนไม่ได้ซื้อหนังสือเพื่ออ่านเพียงอย่างเดียว”

พิมพ์ 1 แสนเล่ม ใน 3 เดือน ถือเป็นหนังสือมาแรงในปีนี้

นวนิยาย เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” พิมพ์ครั้งแรกกับสํานักพิมพ์ happy banana ตั้งแต่ปี 2553 แต่ก็สามารถขายได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค. เราตีพิมพ์แล้ว 93 ครั้ง ยอดประมาณ 100,000 เล่ม ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีหนังสือเล่มไหนในสำนักพิมพ์เรา ที่มียอดรีพริ้นต์มากขนาดนี้มาก่อน ในระยะเวลาแค่ 3 เดือน นอกจากหนังสือประเภทแบบเรียน ในช่วงเดือนม.ค. จะตีพิมพ์เพื่อสต็อกไว้หลักหมื่น แต่พอละครออนแอร์แล้วร้านก็ขายหมดเลย แล้วก็เริ่มทยอยออร์เดอร์เข้ามา พอเห็นตัวเลขเราก็ตกใจเหมือนกัน ต้องเร่งพิมพ์ 3 วัน 20,000 เล่ม ช่วงนั้นหันไปทางไหนในโรงพิมพ์ก็เจอแต่บุพเพสันนิวาสเต็มไปหมด

เป็นการสร้างปรากฏการณ์ให้คนอนุรักษ์ความเป็นไทย

ปรากฏการณ์ที่คนแต่งชุดไทยหรือไปเที่ยวสถานที่ตามละครในประเทศไทย เรารู้สึกว่ามันแปลกใหม่มากนะ แต่ถ้าเป็นของเกาหลี เขาทำกันมานานแล้ว ก็เลยรู้สึกดีใจที่บ้านเราก็มีโอกาสได้ไปถึงตรงนั้นบ้าง เพราะตอนนี้มันไม่ใช่แค่คนไทยที่สนใจ ต่างชาติก็ดู มีซับไตเติ้ลเกาหลี จีน รัสเซียแล้ว คือมันไม่ใช่ได้แค่สิ่งพิมพ์ มันได้ทั้งแพ็ก การท่องเที่ยว วัฒนธรรม จริง ๆ ถ้าผู้ใหญ่ส่งเสริม กระทรวงวัฒนธรรมมีโอกาสก็อยากจะให้นิยายเรื่องอื่นๆ ได้ทำแบบนี้บ้าง เพราะว่าเศรษฐกิจในประเทศเราก็ไม่ใช่แค่ธุรกิจหนังสือที่มันซบเซา ถ้าทุกคนได้ทุกภาคส่วนก็ถือว่าดี การขายอะไรที่มันเป็นบูรณาการ ขายไปเป็นแพ็ก ก็ทำให้ได้ประโยชน์กันทุกคน

บุพเพสันนิวาสปลุกกระแสในยุค “สื่อสิ่งพิมพ์ซบเซา” 

ตอนนี้สำนักพิมพ์ ร้านค้าอาจจะท้อแท้ไปบ้าง เพราะเศรษฐกิจมันซบเซา ยอดขายมันแย่ แล้วมันก็ไม่มีหนังสือที่ทำให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์มาคึกคัก การที่บุพเพสันนิวาสขายดี ก็เป็นการปลุกกระแสให้คนกลับมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น เราขายนิยายได้ คนอยากอ่านอะไรต่อ ด้วยความที่เป็นนิยายประวัติศาสตร์ ลูกค้าอยากรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อยากรู้เกี่ยวกับตัวละครในเรื่องที่มีอยู่จริง เขาก็ไปหาหนังสืออ่านต่อ

ร้านค้าที่เคยซบเซาเขาก็กลับมาขายของได้ ทุกคนได้กันไปหมดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ การอ่านมันให้อะไรหลาย ๆ อย่าง มันเป็นความรู้ที่เชื่อถือได้และจับต้องได้มากกว่าอะไรที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต ถ้าเราเชื่อว่าของเราดี สักวันมันจะต้องขายได้ 

นิยายอิงประวัติศาสตร์ตรงใจคนไทยได้  

นิยายประเภทนี้มีคนแต่งน้อย และคนที่จะย่อยประวัติศาสตร์แล้วเขียนให้กลายเป็นเรื่องกุ๊กกิ๊ก เรื่องราวของความรักและทำให้เข้าใจง่าย มันก็ต้องใช้ความสามารถที่สูงมาก อย่างบุพเพสันนิวาส ถือว่าเป็นการนำเอาประวัติศาสตร์มาอธิบายด้วยภาษาที่ง่ายมาก ถ้าใครได้อ่านในรูปแบบที่เป็นนิยายจะพบว่า ภาษาวัยรุ่นมาก เข้าถึงได้ง่าย อ่านได้ทุกเพศทุกวัย ก็เลยจะถูกจริตคนสัมยนี้ เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี ก็เลยทำให้เกิดกระแสอย่างนี้ขึ้นมา

ยุคดิจิทัล "ขาลง" ของโรงพิมพ์

เราก็ต้องยอมรับว่าลูกค้าที่เป็นนิตยสารก็หายไปค่อนข้างมาก เนื่องจากการโฆษณาในสื่อออนไลน์มันน่าตื่นเต้นเร้าใจและทำได้ดีกว่า ส่วนงานหนังสือเรียน หนังสือนิยายก็ยังถือว่าไปได้ แต่ว่าเราก็ต้องพัฒนาศักยภาพในการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้าและผู้อ่าน โดยลูกค้าก็จะมีถามว่าอยากได้งานแบบนี้ คุณมีปกแบบไหนให้เลือก คุณมีเทคนิคในการทำให้หนังสือมันโดดเด่นออกมาจากชั้นวางหนังสือได้อย่างไร กระดาษมีให้เลือกเนื้อไหม ส่วนใหญ่จะต้องเน้นไปในงานบริการที่ต้องทำการบ้านหนักขึ้น และเป็นที่ปรึกษาให้ลูกค้าได้

อีบุ๊กไม่กระทบการซื้อหนังสือของนักอ่าน

ช่วงนี้หนังสือขาด คนที่ใจร้อนก็จะซื้ออีบุ๊ก ซึ่งหนังสือกับอีบุ๊กถือว่าเป็นคนละตลาดกันนะ เพราะหนังสือจะเป็นตลาดสำหรับคนในประเทศ แต่อีบุ๊กก็จะเป็นคนที่อยู่ต่างประเทศและคนที่มีไลฟ์สไตล์ คนเมือง อยู่ในคอนโด ไม่มีที่จะเก็บหนังสือเขาก็จะซื้อเป็นอีบุ๊ก แต่ตลาดอีบุ๊กช่วงนี้ถือว่าโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว อาจจะเป็นเพราะหนังสือขาด หนังสือหายาก แต่ถ้าถามว่าจะกระทบยอดหนังสือไหม ต้องบอกว่าคนที่อ่านหนังสือก็อยากจะเก็บหนังสือไว้ เพราะฉะนั้นยอดหนังสือก็ยังคงไป อีบุ๊กก็ยังคงวิ่ง ถือเป็นธุรกิจที่เกื้อหนุนกัน เพราะคนคิดว่า "หนังสือเป็นเหมือนของสะสม"


นิสัยของนักอ่านเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

เดี๋ยวนี้คนซื้อหนังสือมีลักษณะการซื้อที่เปลี่ยนไป ถ้าคนอยากได้แค่เนื้อหาอย่างเดียวก็จะหันไปหาอีบุ๊กเพราะไม่เปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บ อ่านแล้วไม่ต้องถนอมมาก แต่ถ้าคนที่ซื้อหนังสือช่วงนี้พฤติกรรมผู้บริโภคคนจะมองไปในแนวของสะสม เวลาเขาเลือกหนังสือก็จะต้องดูแพ็กเกจ ดูทุกอย่าง ที่โรงพิมพ์ซีลหนังสือ เราไม่ได้ซีลเพราะกลัวนักอ่านตามร้านเปิดอ่านข้างใน แต่เราซีลเพราะนักอ่านกลัวว่าหนังสือมันจะยับหรือมีตำหนิ แล้วไม่สวย เพราะฉะนั้นการผลิตหนังสือจะต้องตอบโจทย์นักอ่านมากขึ้น นอกจากขายหนังสือเป็นเล่มแล้ว ก็จะมีการขายเป็นกล่อง นักอ่านก็จะซื้อไปเป็นเซ็ตมีกล่องให้ มีของพรีเมี่ยม โปสการ์ด ที่คั่นหนังสือ หรือของที่ระลึก ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าจะใส่ใจ

ดังนั้น สำนักพิมพ์จะต้องปรับตัวจากความต้องการของลูกค้า รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวหนังสือ เพราะฉะนั้นตัวหนังสือก็จะต้องพยายามคัดคุณภาพ เพราะคนซื้อหนังสือไม่ได้ซื้อเพื่ออ่านอย่างเดียวแล้ว แต่เขาต้องการเก็บเป็นของสะสม

ความคาดหวังของบ.ก.กับวงการหนังสือในอนาคต

อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าเราทำสิ่งที่มันดี ถูกต้องและให้อะไรกับสังคม สักวันมันจะต้องดี มันไม่สูญเปล่าหรอก และอยากให้คนทำหนังสือ ช่วงนี้หนังสือมันเยอะมากในตลาด นอกจากจะดูว่ามันให้อะไรกับสังคมแล้วก็ต้องดูว่าตลาดมันไปได้ไหม เพราะทรัพยากรในการลงทุนมันเยอะ กระดาษ มันก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เราควรระแวดระวังในการใช้ ให้คนทำหนังสือมีจิตวิญญาณ ดูว่าหนังสือมันมีประโยชน์และถูกต้อง ต้องใส่ใจ เพราะช่วงนี้มีกระแสว่าหนังสือพิมพ์ออกไป แล้วพิมพ์ผิดบ้างหรืออาจจะเป็นหนังสือที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ก็อยากให้ทุกคนมีจรรยาบรรณในการทำงาน

วิธีเลือกหนังสือมาตีพิมพ์ ในยุคที่หนังสือเต็มตลาด

เราคิดว่าหนังสือมันอยู่นาน อาจจะอยู่นานกว่าอายุเราอีก เพราะฉะนั้นภาษาที่ใช้จะต้องถูกต้อง เนื้อหาจะต้องมีการตรวจสอบก่อนเผยแพร่สู่ประชาชน นอกจากจะเป็นนิยายที่ให้ความบันเทิงแล้ว ต้องเป็นนิยายที่ให้แง่คิด ให้ความรู้หรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยกับคนอ่าน อันนี้คือสิ่งที่เรามองหา นิยายรักพล็อตมันซ้ำไปซ้ำมาเยอะแยะ เราก็ต้องหาอะไรที่มันแตกต่างให้กับผู้อ่าน อาจจะยากนิดนึง เพราะเราค่อนข้างเข้มงวดกับการคัดสรรต้นฉบับและเลือกนักเขียนที่ใส่ใจในงานของตัวเอง บอกให้แก้ก็แก้ รับฟังความคิดเห็น ทำงานและเข้าใจกันและกัน

มุมมองบ.ก.กับโอกาสนักเขียนในยุคดิจิทัล

ช่วงนี้ค่อนข้างอิสระเสรีมากเลย มันมีพื้นที่สำหรับคนที่อยากเขียนและมีพื้นที่สำหรับคนที่อยากอ่าน ทั้งนคนเขียนและคนอ่านต้องทำงานหนักมากขึ้น ด้วยความที่ใคร ๆ ก็เขียนได้ คุณก็ต้องพยายามสร้างชื่อ สร้างฐานคนอ่าน นอกจากผลงานจะต้องดีแล้ว คุณก็จะต้องมีความสามารถในการมาเก็ตติ้งและพรีเซนต์ตัวเองด้วย บางคนเขียนดีแต่ไม่ดัง คือ ถ้าคุณไม่ได้มีความสามารถด้านการทำการตลาด ทำเพจนำเสนอผลงานตัวเองก็ต้องส่งผลงานเข้าสำนักพิมพ์ แต่อาจจะต้องใช้เวลา รอสำนักพิมพ์พิจารณาต้นฉบับ บางคนที่ดังมาจากในเว็บ ในเพจก็อาจจะมีการลดขั้นตอนพิจารณาเร็วกว่าปกติ แต่ก็อย่าท้อแท้ ถ้าเรามีฝีมือ มีความอดทน วันหนึ่งมันก็จะต้องสำเร็จ

คุณกวิยา ทิ้งท้ายกับทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ผลงานที่หลากหลายถือเป็นโอกาสสำหรับนักอ่าน ทั้งผลงานในหนังสือและสื่อออนไลน์ อีกทั้งงานเขียนที่ดีมักจะถูกพูดถึงในบอร์ดหนังสือต่าง ๆ คนอ่านก็ไม่ต้องเสียเงินฟรีแบบเมื่อก่อนที่ซื้อหนังสือมาอ่านแล้วไม่สนุก "ถือเป็นนาทีทองของคนอ่าน" ก็ว่าได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง