เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ระยอง และชลบุรี เข้าพบตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เพื่อขอข้อมูลการตรวจสอบทุจริตขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างรถดูดโคลนฉีดล้างท่อระบายน้ำ
พ.ต.อ.จักษ์ เพ็ญสาธร รองผู้บังคับการ ปปป. เปิดเผยว่า การตรวจสอบขณะนี้พบการทุจริตของ อปท. ร่วมกับบริษัทเอกชนในลักษณะฮั้วประมูล รวม 12 แห่งจาก 10 จังหวัด ซึ่งตัวแทนจาก จ.นนทบุรี เข้าร้องทุกข์แจ้งความไปแล้ว และวันนี้ (4 เม.ย.2561) มีตัวแทนจาก จ.สมุทรปราการ แจ้งความเป็นจังหวัดที่ 2 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องถึง 4 คน
การทุจริตครั้งนี้เป็นการฮั้วประมูลลักษณะที่ อปท.ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างให้บริษัทที่เข้าประมูลต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และการจัดซื้อรถดูดโคลนไม่มีราคากลางจากสำนักงบประมาณ จึงต้องกำหนดราคากลางเอง
หลักเกณฑ์คือ ใช้ราคาที่เคยซื้อครั้งหลังสุดไม่เกิน 2 ปี หากไม่มีให้ใช้ราคาตลาดโดยสืบราคาอ้างอิงจากเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งทุกแห่งผิดเงื่อนไขทั้งหมด กำหนดราคากลางสูงเกินจริงทำให้รัฐเสียหาย
ปปป.ตรวจสอบพบอีกว่าบริษัทที่ชนะการประมูลทั้ง 12 แห่ง มี 2 บริษัท ซึ่งมีกรรมการผู้จัดการเป็นคนเดียวกัน บริษัทอื่นที่ยื่นซองแข่งประมูลก็เป็นกลุ่มเครือข่ายอีกเช่นกัน เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจึงเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 157 ส่วนบริษัทเอกชนก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการฮั้วประมูลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปแล้ว 2 ล็อต โดยล็อตที่ 1 ดำเนินคดีไป 21 อปท. ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.ไปแล้ว 20 อปท., ในล็อตที่ 2 มี 12 อปท.ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก ระยอง ศรีสะเกษ เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี สมุทรปราการ และ จ.นนทบุรี รวม 33 อปท. หลังจากนี้รอประสานผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีรายชื่อพบทุจริตฮั้วประมูลเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษในฐานะผู้เสียหาย