วันนี้ (9 เม.ย.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประชาชนรอบพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก รวมถึงตัวแทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ และ น.ส.อารมณ์ คำจริง ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ชี้แจงกลับภายใน 7 วัน หลังกลุ่มชาวบ้านร้องเรียนมานาน 4 ปี แต่คดีเกี่ยวกับการตรวจสอบข้าราชการและการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัทอัครา รีซอร์เซส ผู้รับสัมปทาน และคดีสินบนระหว่างข้าราชไทยกับบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย ยังไม่คืบหน้า
วันนี้ไม่ได้คำตอบเช่นเดิม เป็นเรื่องที่หนักมาก ไม่มีกรอบ ไม่มีระยะเวลา ไม่มีความชัดเจน ครั้งสุดท้ายที่เดินทางมาติดตามคดีเมื่อ 20 พ.ย.60 แต่วันนี้ ป.ป.ช. ก็ยังไม่ชี้แจงความคืบหน้า จึงขอความชัดเจนให้ตอบเป็นเอกสารภายใน 7 วัน หากยังไม่ตอบอีก และถ้ายังไม่มีความชัดเจนภายใน 30 วัน ก็จะยกระดับเพื่อให้ตรวจสอบ ป.ป.ช. เราไม่รู้ว่า ป.ป.ช. ทำงานต้องเกรงใจใครหรือไม่ ในการสอบสวนเรายื่นร้องเรียนมา 4 ปีแล้ว มันไม่เกี่ยวกับคำสั่งที่ คสช. ใช้ม.44 เพราะเรายื่นมานานแล้ว คดีเหมืองแร่ทองคำเป็นคดีใหญ่เรื่องใหญ่ของประเทศ ทำไม ป.ป.ช. ไม่ให้ความสำคัญ
สำหรับข้อร้องเรียนที่กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาสังคมปฏิรูปทองคำ เคยยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเป็นทางการ มี 19 ประเด็น ได้แก่
1.ประเด็นอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่กับบริษัทสวนสักพัฒนา จำกัด ที่มีบริษัทอัครา รีซอร์สเซส เป็นผู้ถือหุ้น โดยบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทอัคราฯ
2.ประเด็นการอนุมัติให้ทำเหมืองในทางสาธารณะโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่อาจเกี่ยวข้องกับการซื้อที่ดินของญาตินายก อบต. และคดีสินบนข้ามชาติหรือไม่อย่างไร
3.การเปลี่ยนแปลงผังโครงการเพื่อย้ายบ่อเก็บกากแร่ไปใกล้กับชุมชนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และอาจเกี่ยวข้องกับคดีสินบนข้ามชาติหรือไม่อย่างไร
4.การขยายโรงงานประกอบโลหะกรรม โดยมิชอบด้วยกฎหมายและอาจเกี่ยวข้องกับคดีสินบนข้ามชาติหรือไม่อย่างไร
5.ประเด็นการจ่ายเงินเพื่อการอนุมัติประทานบัตรในปี 2551 หรือไม่
6.การทำเหมืองนอกเขตประทานบัตรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
7.การออกโฉนดในการแปลงทรัยพย์สินเป็นทุนให้บริษัทสวนสักพัฒนา จำกัด และชื่อบุคคลอื่นถือครองแทน บริษัทสวนสักพัฒนา โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร
8.การยกเลิกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ จ.ลพบุรี
9.ประเด็นยกเลิกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายของชาวบ้าน ต.คลองทราย อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร
10.การไม่ออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชนที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก โดยอ้างว่า ไม่ใช่พื้นที่ป่าสงวนหวงห้าม
11.ประเด็นกรมควบคุมมลพิษเตือนห้ามใช้น้ำหนองระมาน บ่อน้ำดื่ม และน้ำใต้ดินในบริเวณหนองระมาน
12.ประเด็นน้ำผุดกลางนาข้าวบริเวณข้างบ่อเก็บกากแร่ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ตรวจพบสารไซยาไนต์ ที่มีอัตตลักษณ์คล้ายกับไซยาไนท์ในบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ที่ใช้เพียงดินเหนียวรองก้นบ่อเท่านั้น
13.การปล่อยน้ำในบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ออกมานอกบ่อทางด้านทิศใต้ของบ่อ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
14.ผลตรวจของกรรมการ 5 ฝ่าย, สถานบันนิติวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในสิ่งแวดล้อมและร่างกายคน
15.ประเด็นการเจ็บป่วยล้มตายของชาวบ้านรอบเหมืองทอง
16.การขุดสินแร่ที่มีสารหนูและสารโลหะหนัก และใช้สารไซยาไนต์เข้าใช้ในการผลิต อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยของประชาชนรอบเหมืองหรือไม่อย่างไร
17.การเพิกถอนพื้นที่ปฏิรูปที่ดินใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฟ้าร้อง จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท คิงส์เกต ได้ยื่นอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไว้ โดยแอบอ้างคำสั่งทวงคืนผืนป่าของ คสช.
18.การใช้อำนาจหน้าที่ของ นายก อบต. รื้อป้ายคัดค้านการสำรวจเพื่อทำเหมืองแร่ใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
19.การห้ามประชาชนคัดค้านการทำเหมืองแร่โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีเหมืองแร่ทองคำแล้ว มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน และคดีขณะนั้นมีความคืบหน้า รวมทั้งนายวิชา เคยเปิดเผยกับ “ไทยพีบีเอส” เกี่ยวกับคดีสินบนข้ามชาติที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่หลังจากนายวิชาหมดวาระเมื่อปี 2560 ทำให้กลุ่มชาวบ้านที่เคยมาติดตามเรื่องร้องเรียนไม่ได้รับทราบความคืบหน้า และมีการปรับเปลี่ยนคณะทำงานใหม่หลายคน ทำให้กลุ่มผู้ยื่นร้องเรียนเกิดความกังวลว่า คดีมีความล่าช้า และเมื่อติดตามความคืบหน้าก็ไม่มีรายละเอียดที่ชี้แจงให้กลุ่มผู้ยื่นร้องเรียนรับทราบชัดเจน