โอ่งหมักปลาร้ากว่า 50 ใบ ของผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายปลาร้า ต.ศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ที่แต่ละวันต้องเปิดถุงพลาสติกคลุมโอ่งเพื่อคนให้เข้ากัน เมื่ออายุครบ 1-2 ปี จึงจะนำมาจำหน่ายได้
จารุณี ตันดง ผู้ผลิตปลาร้า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ระบุว่า การผลิตปลาร้าเป็นไปตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้เกลือสินเธาว์ ไม่ได้ใช้เกลือโซเดียมคลอไรด์ ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับกำหนดมาตรฐานสินค้าปลาร้า ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2551 ทั้งนี้ เมื่ออ่านรายละเอียดในคำประกาศแล้ว หากบังคับใช้กับผู้ผลิตปลาร้าทุกคนก็อาจส่งผลกระทบ เนื่องจากผู้ผลิตแต่ละคนมีศักยภาพไม่เท่ากัน
ขณะที่ ฝาย นันทช่วง ประธานกลุ่มปลาร้าไฮเทค อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ผู้ผลิตปลาร้าจากเขื่อนลำปาว บอกว่า ผู้ผลิตบางส่วนเห็นด้วยกับประกาศฉบับนี้ เนื่องจากเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น แต่การกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยมากเกินไป เช่น สภาพผิวคงรูป หนังไม่ฉีกขาด ประเด็นดังกล่าวแทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากปลาร้าที่ต้องใช้เวลาหมักอย่างน้อย 8 เดือน หนังอาจจะหลุดลอก หรือเนื้อยุ่ย หากหมักไม่ถึง 3 เดือน จะไม่ใช่ปลาร้าและเสี่ยงมีพยาธิ
นายวรวุฒิ เอี่ยมกำแพง เกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุว่า ไม่ทราบรายละเอียด หรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานมากนัก เพราะเพิ่งประกาศ แต่ข้อเท็จจริงนั้นเป็นการประกาศมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้เป็นการบังคับ ผู้ผลิตสามารถผลิตปลาร้าได้เหมือนเดิม หากทำตามประกาศที่หนดก็จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์