นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เชิญกลุ่มเกี่ยวข้องในการทำงานกองทุนเสมาฯจำนวน 19 คน ได้แก่ กลุ่มที่รับผิดชอบเซ็นใบเบิกถอน กลุ่มลงบัญชี และกลุ่มตรวจสอบภายใน มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น กลุ่มตรวจสอบภายใน มีหน้าที่ต้องตรวจสอบบัญชีทุกปี แต่พบว่าเพิ่งมาเริ่มตรวจบัญชีกองทุนฯ เมื่อปี 2556 ส่วนกลุ่มคนที่เซ็นใบเบิกถอน ได้ทยอยมาให้การแล้ว
ส่วนของบัญชี คณะกรรมการสืบสวนฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงไม่มีการเรียกใบเสร็จรับเงินตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและนำเงินส่งคลัง ซึ่งกำหนดให้ส่วนราชการ ต้องออกใบเสร็จรับเงิน และใบเสร็จต้องกลับมาที่บัญชี เพื่อประกอบงบการเงินเป็นหลักฐานทางบัญชี ซึ่งหากได้ใบเสร็จทุกครั้ง การทุจริตจะไม่มีทางยืดเยื้อมาเป็น 10 ปี
ประธานคณะกรรมการสืบสวนคาดว่า การขอข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง 19 รายที่เชิญมาใหม่ จะแล้วเสร็จภายใน 2-3 วันนี้ และคาดว่า วันที่ 7 พ.ค. จะสามารถนำเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผ่าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวง ศธ. เพื่อพิจารณา ส่วนจะชี้มูลว่าบุคคลใดมีความผิดประเด็นใดนั้น ซึ่งมีทั้งกรณีทุจริต ประมาทเลินเล่อ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งต้องเสนอให้ผู้ใหญ่วินิจฉัยต่อไป
ส่วนการชี้แจงข้อมูลของอดีตปลัด ศธ. และรองปลัด ศธ. ขณะนี้ส่งข้อมูลมาให้คณะกรรมการสืบสวนฯ เกือบครบแล้ว ยังขาดของอดีตรองปลัดอีก 1 คน คาดจะส่งข้อมูลให้เร็วๆ นี้ แต่ปัญหาใหญ่ของทั้งคณะกรรมการสืบสวนฯและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คือ ไม่ได้รับความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทยในเรื่องข้อมูลเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อขอข้อมูลไปที่สาขา ก็ได้รับแจ้งกลับมาว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจ ข้อมูลเก็บไว้ไม่เกิน 3 ปี จึงได้ทำหนังสือไปที่สำนักงานใหญ่ และต้องหาข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งมีปัญหามากจึงเรียกร้องให้ธนาคารกรุงไทยออกมาให้ข้อมูลเพราะพบว่ามีหลายคนเปลี่ยนชื่อ หรือมีชื่อ-นามสกุลซ้ำกัน ซึ่งเชื่อว่าธนาคารให้ข้อมูลเรื่องนี้ได้