ทีมข่าวได้สำรวจอะพาร์ตเมนต์ ในซอยวิภาวดีรังสิต 60 พบว่า ผู้ดูแลหอพักเตรียมใช้วิธีเดียวกัน และมีการพูดคุยกับผู้เช่าแล้ว ถึงระเบียบใหม่ที่จะประกาศใช้โดยจะปรับลดค่าไฟและค่าน้ำให้แต่จะขอจัดเก็บค่าบริหารจัดการเพิ่มเฉลี่ย 200 -300 บาทเนื่องจากปกติจะมีค่าใช้จ่ายกับการไฟฟ้าฯและการประปา ไม่เท่ากับครัวเรือน โดยจัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้า เฉลี่ยหน่วยละ 4.23 บาท - 4.50 บาท และค่าน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 16 บาทต่อหน่วย และยังมีต้นทุนอย่างอื่น เช่น ไฟฟ้าบริเวณทางเดิน ค่าจ้างช่าง รปภ. แม่บ้าน รวมประมาณ 100,000 บาท
หากกฎหมายบังคับให้จัดเก็บค่าไฟฟ้า และค่าน้ำเท่ากับอะพาร์ตเมนต์จ่ายให้การประปาและการไฟฟ้า จำเป็นต้องเพิ่มค่าบริหารจัดการ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน ถ้าหากไม่จัดเก็บค่าบริหารจัดการเพิ่ม จำเป็นต้องขึ้นค่าเช่าห้องตั้งแต่ 200 -500 บาทต่อเดือน
ผู้เช่ารายหนึ่ง บอกว่า อะพาร์ตเมนต์อีกแห่งมีการเก็บค่าบริการทำความสะอาดและเก็บขยะเดือนละ 200 บาทอยู่แล้ว และปัจจุบันเสียค่าไฟที่ 7 บาทต่อหน่วย เป็นเงิน 1,694 บาท และค่าน้ำ อยู่ที่ 697 บาท คิดอัตราหน่วยละ 17 บาท หากลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำลงได้ตามกฎหมายโดยไม่มีค่าบริหารจัดการเพิ่ม จะช่วยลดรายจ่ายได้ประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน
แม้การเริ่มใช้กฎหมายใหม่จะเริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ( 1 พ.ค.61) แต่จนถึงขณะนี้ ผู้เช่า ยังไม่ได้รับแจ้งจากหอพักว่า จะปรับลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลงหรือไม่ การร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เช่ามองว่า อย่างน้อยช่วยป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ แต่ในอีกมุมของผู้ประกอบการ ต้องการให้ภาครัฐสร้างความเป็นธรรมให้แก่ธุรกิจ เพื่อไม่ให้กระทบทั้ง 2 ฝ่าย