แม้ผู้ประกอบอาชีพอิสระจะมีกฎหมายคุ้มครองแต่ในทางปฏิบัติยังไม่ตอบโจทย์กับสภาพสังคมปัจจุบัน เครือข่ายแรงงานนอกระบบจึงเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมแก่แรงงาน
นางพนิตา ฟองอร เร่งเย็บผ้าเพื่อให้ทันกับออเดอร์ลูกค้าที่เธอรับงานมาจากโรงงานแห่งหนึ่ง โดยตกลงจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายตามปริมาณสินค้า แม้การรับงานมาทำที่บ้านจะเป็นอาชีพอิสระแต่เธอบอกว่า รายได้มักไม่แน่นอนเฉลี่ยวันละ 50-500 บาท บางวันต้องเย็บผ้าไม่ต่ำกว่า 100 ชิ้น ซึ่งต้องเย็บทั้งวันทั้งคืนเลยทีเดียวและบางเดือนรายรับก็แทบไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย
การเป็นแรงงานนอกระบบทำให้เธอไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ หากเจ็บป่วยขึ้นมาอาจไม่มีเงินรักษา แม้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แต่เธอบอกว่า สิทธิประโยชน์ที่ได้รับมีไม่มากนักจึงต้องการให้รัฐเพิ่มสวัสดิการการรักษาพยาบาลให้มากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน
สุจิน รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน แต่ในทางปฏิบัติการบังคับใช้ยังไม่ตอบโจทย์ หรือสร้างความเป็นธรรมแก่แรงงาน โดยเฉพาะความเหมาะสมของรายได้ที่ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้รับงานและผู้ว่าจ้าง การไม่สามารถกำหนดเวลาการทำงานได้ ไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ ดังนั้นจึงทบทวนปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่า มีแรงงานนอกระบบมากถึง 20.8 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 55.2 จากจำนวนผู้มีงานทำ 37.7 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมถึง 11.5 ล้านคน รองมาเป็นภาคการค้าและการบริการ และภาคการผลิต
ผลสำรวจยังชี้ถึงปัญหาของแรงงานนอกระบบที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ ปัญหาเกี่ยวกับค่าตอบแทน ร้อยละ 56 รองลงมาเป็นงานที่ทำไม่ได้รับการจ้างอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 16.1 และการทำงานหนัก ร้อยละ 14.7 ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด ทำงานไม่ตรงเวลาปกติ ชั่วโมงทำงานมากเกินไปและลาพักผ่อนไม่ได้