วันนี้ (15 พ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายศิลปินและภาคประชาสังคมศิลปะวัฒนธรรม นำโดยนายจุมพล อภิสุข และ นายมานิต ศรีวานิชภูมิ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ระงับไม่ให้ กทม. ยึดคืนหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครไปบริหารเองโดยด่วน
นายจุมพล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและผิดข้อตกลงของปฏิญญากรุงเทพฯมหานครที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่า กทม.ยุคนั้น ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญให้มูลนิธิหอศิลป์ บริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดย กทม.มีงบสนับสนุนการทำงาน ตามวัตถุประสงค์ และยืนยันว่าตลอด 10 ปีของการบริหารหอศิลปฯโดยมูลนิธิ มีความก้าวหน้าและรายงานงานเปิดเผยต่อสาธารณะทุกปี มีผู้เข้าชมกว่า 1,700,000 คน พร้อมสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก
โดยไม่เชื่อมั่นว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. และคณะทำงานจะมีศักยภาพและความรู้ที่จะมาบริหารองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรม เรียกร้องให้ผู้ว่าฯกทม.เคารพปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยหอศิลปฯ
และแม้จะมีรายงานข่าวว่าผู้ว่า กทม.จะยอมยุติปนวคิด หากประชาชนไม่เห็นด้วย แต่ล่าสุดเครือข่ายศิลปินยังไม่ได้รับการประสานอย่างเป็นทางการว่าทาง กทม.จะยุติแนวคิดนี้ ซึ่งเครื่อข่ายกล่าวด้วยว่าไม่มีความ ไว้วางใจพล ตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง อีกต่อไป โดยจะมีการติดตามมติของสภา กทม.ที่ประชุมวันนี้อีกครั้ง
เครือข่ายศิลปิน ได้แนบเอกสารว่าด้วยปฏิญญาข้อตกลงความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครระหว่างกรุงเทพมหานครและพันธมิตรด้านศิลปวัฒนธรรม, รายงานผลการดำเนินงานหอศิลปะวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครปี 2554 ถึงปี 2559 ,เอกสารการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , รายชื่อแนวร่วมคัดค้านการยึดคืนหอศิลป 539 คน
ทั้งนี้นายจุมพลยังเล่าถึงเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของกลุ่มศิลปินปี 2544 ที่ผู้ว่า กทม.ยุคนั้น นายสมัคร สุนทรเวช จะนำพื้นที่ห้องสมุดประชาชนไปทำที่จอดรถ ผ่านมา 12 ปี ครั้งนี้ มีเหตุจำเป็นที่ต้องออกมาเรียกร้อง
ขณะที่นายมานิต ศรีวานิชภูมิ ระบุว่า จะติดตามมติของที่ประชุมสภา กทม.วันนี้ เพื่อประเมินแนวทางการคัดค้านอีกครั้ง หาก กทม.จะยุติแนวคิดต้องมี สิ่งที่ยืนยันได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่หาก กทม.ยืนยันที่จะยึดคืน ก็จะมีการชุมนุมประท้วงเช่นอดีตแน่นอน โดยเชื่อว่ารัฐบาลไม่ต้องการเกิดการประท้วงแน่นอน
และเชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่ กทม.จะดำเนินการเปลี่ยนหอศิลป์เป็น Co-working Space ด้วยงบประมาณที่เคยสนับสนุนมูลนิธิฯ อาจจะเพิ่มงบฯมากขึ้นด้วย และตั้งคำถามถึงนัยยะเรื่องผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และนัยยะทางการเมือง โดยนายมานิตปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมือง ที่มาทำกิจกรรมทุกครั้งที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายจุมพลได้อ่านบทกวีจากศิลปินแห่งชาติ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เพื่อมอบให้แก่นายกรัฐมนตรี ความว่า
หอศิลป์คือ อุทยานงานศิลปะ ต้นไม้แห่งธรรมะจะเติบใหญ่ หวังผลอย่าเด็ดดอกอย่าเด็กใจ เปิดที่ให้ไม้ดอกได้งอกงาม