"เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน" 4 ปีหลังการทำรัฐประหารและเข้าบริหารประเทศภายใต้รัฐบาล คสช. กับการตั้งคำถามจากประชาชนถึงนโยบายการเนินงานต่างๆ การแก้ปัญหาปากท้อง การจำกัดสิทธิเสรีภาพ และการปูทางสืบทอดอำนาจ
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อแก้วิกฤตทางการเมือง ด้วยแนวคิดปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หากประเมินผลงาน 4 ปี ของ คสช.พบว่า "ล้มเหลวแทบทุกด้าน" ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งการทำงานหลายอย่างไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง เนื่องจากความขัดแย้งยังคงอยู่ ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การปฏิรูปต่างๆ หยุดอยู่กับที่ทั้งหมด อาจทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าผลงานของ คสช.ไม่เป็นรูปธรรม
รัฐธรรมนูญปี 60 สืบทอดอำนาจ-ไม่สร้างประชาธิปไตย
ผศ.ดร.โอฬาร วิเคราะห์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มีนัยยะที่จะสืบทอดอำนาจอยู่พอสมควรและไม่สร้างประชาธิปไตย ทั้งที่ควรจะเป็นกติกาของสังคม กติกาของรัฐ และกติการะหว่างประชาชนกับรัฐ ที่เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนาบางอย่างที่จะจัดการฝ่ายตรงข้ามทั้งหมด และเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มของตัวเอง
"ปรองดอง" ฉาบฉวย มองข้ามความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง
รัฐบาลคิดแบบฉาบฉวยเกินไป เพราะความขัดแย้งทางการเมือง เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่เชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ขณะที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะไปตกอยู่กับกลุ่มทุนและภาครัฐ แต่ไม่เข้าถึงชาวบ้าน ซึ่งประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง หรือชุมนุม ส่วนหนึ่งเพราะต้องการเข้าถึงทรัพยากร การเข้าถึงสวัสดิการ การรักษาพยาบาล การศึกษา ความมั่นคงในอาชีพ การกระจายอำนาจ
ความไม่เป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งเกิดจาก คสช.ไว้ใจข้าราชการประจำมากเกินไป ไม่มียุทธศาสตร์ที่ดีพอในการวางแนวทางควบคุมข้าราชการ นำไปสู่การปฏิบัติที่ดี ทำให้กระบวนการทั้งหมดล้มเหลว ทุกคนเห็นตรงกันว่าหลังเลือกตั้งควรยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 เพราะไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างประชาธิปไตยที่ดี ผมคิดว่า คสช.มีความพยายามจะสืบทอดอำนาจ แต่จะใช้กลไกและวิธีการอะไร หากประเมินแล้วว่าผลงาน 4 ปีที่ผ่านมาสอบตกแน่นอน คสช.ไม่ผ่านเกณฑ์อะไรเลยแล้วจะไปต่อได้อย่างไร สังคมต้องตั้งคำถามแน่นอน
"รวย-จน" ยังเหลื่อมล้ำ ผลประโยชน์อยู่ในมือรัฐ-กลุ่มทุน
ผศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า การแก้ปัญาหาทางเศรษฐกิจจะต้องสร้างพื้นฐานการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของกลุ่มคนต่างๆ เช่น คนรวย ชนชั้นกลาง คนจน แต่ 4 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เห็น คสช.แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่วางนโยบายเชิงเศรษฐกิจ ไม่ได้สร้างประชาธิปไตยฐานเศรษฐกิจเลย
ส่วนนโยบายประชารัฐ หรือแนวคิดที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชน ภาคราชการ ธุรกิจเอกชน และภาคชุมชน เช่น ร้านธงฟ้าประชารัฐ พบว่ามีดีเพียงแค่ชื่อและหลักการเท่านั้น แต่ผลประโยชน์กลับตกอยู่กับกลุ่มทุน และสร้างภาระให้ประชาชน หลายคนต้องนั่งรถจากที่บ้านเพื่อไปซื้อสินค้าในร้านที่มีเครื่องรูดบัตร พร้อมเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องวิสาหกิจชุมชนแทน นอกจากนี้ นโยบายการปฏิรูปที่ดิน ที่เน้นให้ประชาชนและเกษตรกรเข้าถึงทรัพยากรอย่างยั่งยืน แต่กลับสร้างความขัดแย้งกับประชาชน
หากรัฐบาลแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย ทำให้คนไทยมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภาคภูมิใจในพลเมืองประเทศเดียวกัน มีพื้นที่ยืนที่สง่างาม ก็แก้ปัญหาทักษิณ กปปส. นปช.ได้ ตัวเองมองว่าการที่ คสช.เรียกแกนนำมาประชุม เพราะคิดว่าน่าจะจบ สุดท้ายก็ไม่จบ ขณะนี้ก็ดูดกลุ่มก้อนทางการเมืองมาอยู่กับรัฐบาล สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม เกิดขั้วขัดแย้งเพิ่มขึ้นในอนาคต 4 ปีที่ผ่านมาอะไรที่เป็นคนชั้นนำ คนมีเงิน ก็รอดหมด
จำกัดสิทธิเสรีภาพ สะท้อนรัฐบาลมีปัญหา
กรณีรัฐบาลดำเนินคดีกับกลุ่มพรรคการเมืองที่ออกมาแถลงข่าวและประเมินรัฐบาล คสช. การควบคุมการชุมนุมต่างๆ นั้น อาจสะท้อนว่ารัฐบาลกำลังมีปัญหา เนื่องจากใช้วิธีการต่างๆ ในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการรับรู้ของประชาชน อีกทั้งดำเนินการในลักษณะ 2 มาตรฐาน คสช.ไม่ได้ใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่อย่างเสมอภาคทุกกลุ่ม เลือกจัดการกับกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในฝ่ายตรงกันข้าม ห้ามเฉพาะประเด็นที่ตัวเองเสียผลประโยชน์ อาจทำให้ความขัดแย้งของประชาชนก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ
ผศ.ดร.โอฬาร ยังประเมินว่า ในอนาคตอาจเกิดผลกระทบและความขัดแย้งจากปัจจัยการปรับขึ้นราคาน้ำมันและแก๊ส นำไปสู่การปรับขึ้นราคาอาหารและสาธารณูปโภค เป็นปัญหาที่ซับซ้อน และ คสช.ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะมาจากการบริหารงานที่ล้มเหลว พร้อมเสนอให้ยกเลิกการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน
คาดว่ากระแสการต่อต้านรัฐบาล คสช.จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะภาวะรุมเร้าของความขัดแย้งไม่ได้มาจากปัญหาทางการเมืองเพียงอย่างเดียวแล้ว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
4 ปี คสช. "สมหวัง-ผิดหวัง" อะไร?
ประเมิน 4 ปี คสช.เศรษฐกิจกระจุกตัว
"ศศิน"ถูกใจคสช.เบรกเขื่อนแม่วงก์-ไม่โดนใจ "ปลดล็อก"อีไอเอ
รวมทัพ 5 ครั้ง "คนอยากเลือกตั้ง” ทวง คสช.