วันนี้ (23 พ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ เขตทุ่งครุ 172 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเกษตรกร เพาะเลี้ยงปลา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ล้อมรอบด้วยทุ่งป่าปรือ บ้านส่วนใหญ่สร้างแบบยกสูงเหนือน้ำ รอบบ้านและบริเวณร่องสวนทำเป็นบ่อเพาะเลี้ยงปลาเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงปากท้องเป็นอาชีพหลัก แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคจากการรุกพื้นที่ของสัตว์ประหลาดที่แอบลักลอบจับปลากินช่วงกลางคืนจนทำให้ปลาหายไปเกินกว่าครึ่ง
ภาพจากกล้องวงจรปิดที่สะท้อนให้เห็นเงาของฝูงสัตว์จำนวนหนึ่งกรูเข้ากวาดจับปลากิน รวมถึงคำบอกเล่าปากต่อปากของชาวบ้านในเขตทุ่งครุ ทำให้คนในชุมชนเชื่อว่า สัตว์ประหลาดเหล่านั้น คือ “ตัวนาก” ซึ่งมาจากป่าปรือที่ขึ้นล้อมรอบชุมชนและพื้นที่เกษตร แม้จะไม่เคยมีผู้ใดจับตัวนากได้แม้แต่ตัวเดียว
ชาวบ้าน ยืนยันไม่พร้อมอยู่ร่วมกับ “นาก”
นางจริยา มุสตาฟา เล่าว่า ยึดอาชีพเลี้ยงปลามานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยปกติ จะนำปลาไปขายได้ครั้งละ 30,000 บาท แต่ก็เกิดเหตุตัวนากมาลอบกินปลาตอนกลางคืนมา 2 - 3ปีแล้ว ทำให้รายได้จากกาขายปลาเริ่มลดลง จากได้ปลาครั้งละ 2,000 กิโลกรัม ก็เหลือเพียงแค่ 500 – 600 กิโลกรัมเท่านั้น นำไปขายก็ได้เงินเพียง 5,000 บาท ยังไม่หักค่าน้ำมัน ซึ่งต้นทุนที่ลงไปกว่า 10,000 บาท ก็ไม่ได้คืน แต่ก็ยืนยันจะเลี้ยงปลาต่อไป
นางจริยา ยืนยันว่าแม้ตัวนากจะเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แต่ก็ไม่ต้องการให้ตัวนากอยู่ในพื้นที่ แม้จะเป็นภาพที่สวยงามของธรรมชาติแต่ความเดือดร้อนของเกษตรกรก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตัวนากฉลาดมาก และมักจะกินปลาราคาแพง อย่างปลานิล ปลาตะเพียน 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือแต่ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ ซึ่งเห็นใจเจ้าหน้าที่เช่นกัน ขณะนี้ทำได้เพียงเลี้ยงปลาให้มากขึ้น เพื่อให้ปลาเหลือไปขายมาก
การขยายตัวของเขตเมืองและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติในช่วงรอยต่อเขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน และ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีทั้งแหล่งน้ำและพื้นที่เกษตร อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นากใหญ่ขนเรียบ เข้ามาอาศัยและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปี เฉพาะเขตทุ่งครุ ทางสำนักงานเขตคาดว่าน่าจะมีนากชนิดนี้อยู่ประมาณ 200 ตัว
คาดนากถูกนำมาปล่อยจนประชากรเพิ่มกระทบชุมชน
ด้านนายพลเฉลิม ศรมณี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตทุ่งครุ ระบุว่า เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากตัวนากมานานกว่า 3 ปีแล้ว ซึ่งพิจารณาจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน พบว่าเป็นตัวนาก ชนิดนากใหญ่ขนเรียบ ซึ่งนากไม่ได้เป็นสัตว์ประจำถิ่น การเพิ่มจำนวนประชากรจนส่งผลกระทบ อาจเกิดจากประชาชนนำมาเลี้ยงแล้วนำมาปล่อยลงพื้นที่รกร้าง จนเกิดการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ ปัญหาคือเกษตรกรไม่สามารถจับ หรือจัดการได้ เนื่องจากนากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต
เดือน ต.ค.2557
เกษตรกรเริ่มแจ้งปัญหาตัวนากบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรต่อสำนักงานเขตทุ่งครุ ซึ่งในเวลาต่อมาเกิดการบุกรุกของตัวนากเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรใช้หุ่นไล่กาแต่ไม่เป็นผล จึงต้องผลัดเปลี่ยนกันเฝ้ายามช่วงกลางคืน เมื่อเห็นเงามืดกรูเข้ามาก็จะทราบได้ทันทีว่ามีนากมาจับปลากิน แต่ก็ไม่กล้าออกไปไล่หรือจับกันเอง เพราะกลัวจะถูกทำร้าย
เดือน ส.ค.2558
สำนักงานเขตทุ่งครุ ทำหนังสือถึงกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอความอนุเคราะห์ช่วยแก้ไขปัญหาตัวนากในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ประสานกับเฏษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา
เดือน ธ.ค.2559
เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารศุนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำแขวงทุ่งครุ เพื่อรับทราบปัญหาและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข
เดือน ก.พ.2560
สำนักงานเขตทุ่งครุ ทำหนังสือถึงกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหาตัวนากในพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากเกษตรกรแจ้งความเสียหายจากตัวนากบุกรุกพื้นที่ทำความเสียหายต่อปลาที่เลี้ยงจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ ประจำแขวงทุ่งครุ เพื่อแจ้งข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ที่ทำการสำรวจและเก็บข้อมูล พบว่านากที่ระบาดในพื้นที่ทุ่งครุเป็นนากขนเรียบ และได้นำเรียนผู้บริหารของกรมฯ เพื่อสั่งการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ มาดำเนินการจับนากออกจากพื้นที่เพื่อลดจำนวนประชากร
เดือน มี.ค.2560
นายพลเฉลิม ศรมณี ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ประจำแขวงทุ่งครุ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ เจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อน เพื่อรับทราบข้อมูลและร่วมกันหาแนวทางแกไขปัญหาโดยทางกรมอุทยานจะดำเนินการจับนากออกจากพื้นที่เพื่อลดจำนวนประชากรและหมดไปในที่สุด
ขณะที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ กรมอุทยานฯ เกษตรกร และสำนักงานเขตทุ่งครุร่วมกันวางกับดักทดลองดักจับนาก โดยใช้กรงจับ ขนาด 3 x 5 เมตร จำนวน 1 จุด และแร้วดัก จำนวน 12 จุด
เดือน พ.ค. – มิ.ย.2560
เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ ประจำแขวงทุ่งครุ เพื่อหารือและแจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา พบว่าวิธีดักจับด้วยกรงไม่ได้ผล และแร้วที่ใช้ไม่แข็งแรงพอ จึงมีมติให้ปรับปรุงแร้วให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นและเพิ่มวิธีขุดหลุมดัก
เดือน ส.ค. 2560 เจ้าหน้าที่และเกษตรกรดำเนินการปรับปรุงแร้วให้มีความแข็งแรง และทดลองใช้ ซึ่งจากการทดลองใช้แร้วที่ปรับปรุงให้มีความแข็งแรง พบว่าการดักจับไม่สำเร็จ เนื่องจากตัวนากหลีกเลี่ยงไม่เดินไปในบริเวณที่ติดตั้งแร้ว และเปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่และไม่สามารถดำเนินการดักจับโดยการขุดหลุม เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนจึงมีความยากลำบากในการขุดดินให้ลึกพอ และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตัวนากบุกรุกพื้นที่เกษตรได้
การหาวิธีและเครื่องมือดักจับตัวนากออกจากพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นปัญหาที่สำนักงานเขตทุ่งครุ และกรมอุทยานฯ กำลังเร่งจัดการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ควบคู่กับการขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรทำลายป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของตัวนาก เพื่อควบคุมประชากรนากไม่ให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โจทย์สำคัญจึงอาจเป็นการหาทางออกให้คนกับสัตว์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติในระยะยาว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
สัตว์ผู้ล่า สู่สัตว์เลี้ยง "ยอดฮิต" ขวัญใจวัยรุ่น
"นาก"ทูตแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ เสี่ยงสูญพันธุ์ของโลก
“อุ๋งอุ๋ง” สุดน่ารัก สัตว์คุ้มครองชี้วัดความอุดมสมบูรณ์