ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ค้นโรงงานในนิคมฯ ลาดกระบัง นำเข้า-ขาย “กากขยะพิษ” ส่งโรงหลอมฉะเชิงเทรา

อาชญากรรม
24 พ.ค. 61
18:51
1,127
Logo Thai PBS
ค้นโรงงานในนิคมฯ ลาดกระบัง  นำเข้า-ขาย “กากขยะพิษ” ส่งโรงหลอมฉะเชิงเทรา
ตำรวจขยายผลตรวจค้นโรงงานรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกับใน อ.แปลงยาว และอ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ตำรวจดำเนินคดีใน 7 ฐานความผิด

วันนี้ (24 พ.ค.2561) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พร้อมด้วยผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นโรงงาน ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เพื่อขยายผลกรณีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าประเทศไทย

เจ้าหน้าที่ตรวจค้นโรงงานของบริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง พบเศษซากขยะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับในโรงงานคัดแยกขยะอุตสาหกรรม ในอำเภอแปลงยาว และอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้ตำรวจเชื่อว่าบริษัทดังกล่าว รับเศษขยะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และส่งไปขายให้กับโรงงานเผาหลอมทำลายขยะอุตสาหกรรมในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อนำไปเผาหลอมรีไซเคิล

 

นายซิ้น อัน สวี เจ้าของบริษัทสัญชาติไต้หวัน นำเอกสารต่างๆ ที่แสดงถึงการนำเข้าและส่งออกเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ จาก 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ศรีลังกา สิงคโปร์ และฮ่องกง มาชี้แจงกับตำรวจ

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร.เปิดเผยผลตรวจสอบพบว่า ทำธุรกิจมาประมาณ 3 ปี แต่เพิ่งย้ายมาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังประมาณ 3 เดือน และเชื่อว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจประเภทนี้ เพราะเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นชนิดเดียวกับที่พบในโรงงานพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

"ที่นี่เป็นศูนย์รวมในการรับขยะจากทุกมุมโลก เป็นแบตเตอรี่ นิเกิล แคดเมียม ลิเธียม ตะกั่ว ที่ยังไม่มีที่ใดทำลายมารวมพักไว้ที่นี่ ซึ่งตรงนี้จะต้องดำเนินการต่อไป ว่าจะต้องทำอย่างไรกับแบตเตอรี่จำนวนมาก" พล.ต.อ.วิระชัย กล่าว

 

นายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าโรงงานนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการทำลายขยะอุตสาหกรรมภายในประเทศ แต่วัตถุอันตรายที่พบไม่สามารถนำเข้ามาเพื่อทำลายได้

ตำรวจดำเนินคดี บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด 7 ฐานความผิด อาทิ การสำแดงเท็จการนำเข้า หลีกเลี่ยงภาษีอากรศุลกากร และลักลอบหนีศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลากร และมีความผิดฐานลักลอบนำเข้าและครอบครองวัตถุอันตราย เนื่องจากตรวจพบแบตเตอรี่หลายชนิด เช่น ซากแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นวัสดุอันตราย ห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง