วันนี้ (30 พ.ค.2561) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำที่ 254/2547 เป็นครั้งที่ 2 ในความผิดฐานฉ้อโกงซื้อที่ดิน และสัญญาโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย อ.คลองด่าน จ.สมุทร ปราการ ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี กับพวกรวม 19 คน หนึ่งในนั้น คือนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระ ทรวงมหาดไทย ในความผิดฐานฉ้อโกงการจัดซื้อที่ดิน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งขณะนี้ยังคงหลบหนีคดีอยู่ โดยศาลฎีกา เลื่อนการอ่านคำพิพากษาจากวันนี้ เป็นวันที่ 13 ก.ค.นี้
พร้อมกันนี้ศาลฎีกาฯ จึงสั่งออกหมายจับ เพื่อติดตามนำตัวนายวัฒนามารับโทษตามคำพิพากษา 10 ปี ซึ่งคดีดังกล่าวมีอายุความ 15 ปี เนื่องจากนายวัฒนา จำเลยที่ 19 หลบหนีคดีตั้งแต่ปี 2552 โดยศาลแขวงดุสิต สั่งออกหมายจับไว้แล้ว
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2551 นายวัฒนา ยังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 ปี ฐานใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ จูงใจให้เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ. สมุทรปราการ ออกโฉนดที่ดินใน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ เนื้อที่ 1,900 ไร่ ให้กับ บริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเมนท์ฯ แต่นายวัฒนา หลบหนีคดีไม่มาฟังคำพิพากษา
กังวลเลื่อนคำพิพากษาครั้งที่ 3
ด้านนางดาวัลย์ จันทรหัสดี ตัวแทนชาวบ้านคลองด่าน กล่าวว่า คดีคดีฉ้อโกงซื้อที่ดินและสัญญาโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ถือเป็นคดีหลัก การที่เลื่อนอ่านคำพิพากษารอบที่ 2 ออกไปอีกเป็นครั้งที่ 3 อาจจะส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง ยิ่งการออกหมายจับนายวัฒนา ซึ่งหลบหนีคดีจะครบ 10 ปีอยู่แล้วก่อนมีคำพิพากษาออกมา รวมทั้งจำเลยรายอื่นๆ ที่เป็นผู้บริหารและกรรมการบริษัทฯ อาจจะส่งผลให้จำเลยรายอื่นๆไหวตัวทัน หลบหนีคดีหรือไม่ นอกจากนี้ต่อไปหากรัฐจะฟ้องร้องบริษัทเพื่อเอาเงินคืน บริษัทเหล่านี้จะล้มละลายหรือไม่ ต้องติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดว่าจะมีผลตัดสินอย่างไร
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า คดีคลองด่าน เป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นถึง ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งต้องเร่งแก้ไข 2 ประการ คือ 1.ระบบการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของไทย ยังไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศมาลงโทษได้ และ 2. กระบวนการยุติธรรมของไทยที่ล่าช้ามาก ซึ่งTDRI เคยเสนอให้มีกลไกติดตามคดีคอร์รัปชั่นว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหน และเสนอให้ตั้งศาลชำนาญการพิเศษคอร์รัปชั่น เพื่อให้การดำเนินคดีคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ไทม์ไลน์คดีฉ้อโกงที่ดิน-สัญญาคลองด่าน
13 ม.ค.2547 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกลุ่มกิจการร่วมค้า NPVSKG ผู้เกี่ยวข้องรวม 19 คน หนึ่งในนั้นคือนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในความผิดฐานฉ้อโกงการจัดซื้อที่ดิน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ เนื้อที่รวม 1,900 ไร่ มูลค่า 1,900 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แต่ที่ดินนั้น กลับเป็น กลุ่มบริษัทจัดหามาแล้ว ซึ่งที่ดินนั้นเป็นคลอง ถนนสาธารณะ และป่าชายเลนและฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างฯ มูลค่าประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยคดีนี้จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
12 พ.ย.2552 ศาลแขวงดุสิต ไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ ศาลได้พิพากษายกฟ้องในส่วนของกิจการร่วมค้า NVPSKG จำเลยที่ 1 โดยศาลแขวงดุสิตสั่งประทับ รับฟ้องไว้เฉพาะจำเลยที่ 2-19 เท่านั้น ร่วมกันกระทำผิดตามมาตรา 341 ฐานร่วมกันฉ้อโกง อันเป็นความผิดกรรมเดียว จึงให้จำคุกจำเลยที่เป็นบุคคล 11 ราย คนละ 3 ปี และสั่งปรับจำเลยที่เป็นบริษัท 7 ราย รายละ 6,000 บาท และลงโทษจำเลยที่เป็นบุคคล ซึ่งประกอบด้วย จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 และที่ 17 ถึงที่ 19 จำคุกคนละ ๓ ปี หากจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 12 และที่ 16 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้แทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
24 ธ.ค.2554 คพ. ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิตต่อศาลอุทธรณ์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2794/2553 โดย คพ. มีความประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท โดยลงโทษ 2 กรรมเรียงกัน คือ ความผิดฐานฉ้อโกงที่ดิน 1 กรรม และความผิดฐานฉ้อโกงสัญญา 1 กรรม
19 พ.ย.2556 ศาลแขวงดุสิตได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำที่ 2794/2553 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 14544/2556 ว่า “ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 มีน้ำหนัก รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลย ที่ 2 ถึงที่ 11 ข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์และอุทธรณ์ข้ออื่นๆ ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ได้ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
4 ธ.ค.2556 คพ. ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลฎีกาได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 7 มี.ค.2561
7 มี.ค.2561 ศาลฎีกาเลื่อนการอ่านคำพิพากษา เป็นวันที่ 30 พ.ค. 2561 เนื่องจากยังส่งหมายให้แก่จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ที่ 15 และ ที่ 19 ไม่ได้
30 พ.ค.2561 ศาลฎีกาเลื่อนการอ่านคำพิพากษา เป็นวันที่ 13 ก.ค.2561
อ่านข่าวเพิ่มเติม
สตง.ทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ระงับจ่าย "ค่าโง่คลองด่าน" 9.6 พันล้าน
จำคุก 20 ปี อดีตอธิบดีคพ.-รองฯ-ผอ.กองฯ คดีเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมาบ่อบำบัดคลองด่าน
ย้อนคดี ทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน