วันนี้ (31 พ.ค.2561) นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียนปัญหาที่พบสำหรับเด็กคือ กระเป๋านักเรียน จากข้อมูลพบว่าเด็กไทยวัยประถมแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเด็ก เช่น หากมีเด็กน้ำหนัก 30 กิโลกรัม น้ำหนักกระเป๋าที่เด็กสามารถถือได้ต้องไม่เกิน 3 กิโลกรัมเท่านั้น แต่ปัจจุบันพบว่ากระเป๋านักเรียน 1 ใบ มีน้ำหนักสูงถึง 4-6 กิโลกรัม การที่ต้องแบกกระเป๋าใบใหญ่ ทั้งหนักและนานอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกายและส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กวัยอนุบาลหรือประถมต้น ยังมีการทรงตัวที่ไม่ดีนัก เนื่องจากอยู่ในช่วงการเจริญเติบโต และพัฒนาการการทรงตัว อีกทั้งกำลังแขนขายังไม่แข็งแรง
การแบกกระเป๋าใบใหญ่และน้ำหนักมาก อาจทำให้เด็กล้มง่าย เดินลำบากมากขึ้น เกิดการบาดเจ็บทั้งจากการล้มและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการแบกกระเป๋า ทั้งนี้กระเป๋านักเรียน ที่ใช้อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือแบกกระเป๋าโดยใช้มือถือ และแบกกระเป๋าโดยแขวนหลัง หรือ แบคแพ็ค ซึ่งแบบมือถือไม่เหมาะกับการแบกเป็นเวลานาน อาจเกิดการบาดเจ็บ และเสียสมดุลร่างกายได้มากกว่า แบบแขวนหลัง
นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า การแบกกระเป๋าที่หนักเป็นเวลานานจะเพิ่มโอกาสในการบาดเจ็บ ต่อโครงสร้างร่างกายโดยเฉพาะแขน ไหล่และสะบัก แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าจะทำให้กระดูกสันหลังผิดรูปหรือกระดูกไม่เจริญเติบโต เนื่องจากการเจริญเติบโตของเด็กยังมีปัจจัยประกอบหลายอย่าง ทั้งการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และกรรมพันธุ์ของเด็ก
ทั้งนี้ หากกระเป๋ามีน้ำหนักมากแนะนำให้ใช้กระเป๋าลาก แต่ถ้าน้ำหนักไม่มากและต้องการแบกเป็นเวลานานควรใช้กระเป๋าโดยแขวนหลัง ส่วนกระเป๋าถือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้แนะนำว่าไม่ควรหนักจนเกินไป และไม่ควรถือเป็นเวลานานๆ