ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้อนวิวัฒนาการในรอบ 75 ปี ปัญญาประดิษฐ์

สังคม
31 พ.ค. 61
19:02
21,386
Logo Thai PBS
ย้อนวิวัฒนาการในรอบ 75 ปี ปัญญาประดิษฐ์

ในยุคที่มีการตื่นตัวอย่างยิ่งกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้น ไทยพีบีเอส ออนไลน์พาย้อนไปยังจุดกำเนิดของ AI ว่ามีวิวัฒนาการอย่างไร จนถึงปัจจุบัน

กำเนิดปัญญาประดิษฐ์บนโลก

ปี 1943-1950 วอร์เรน แมคคัลลอช์ และวอลเธอร์ พิทซ์ ร่วมกันสร้างแบบจำลองหน่วยประสาทเดี่ยว (neurons) โดยใช้ความรู้เรื่องหน้าที่ของสมองในเชิงกายภาพ ตรรกศาสตร์ และทฤษฎีการคำนวณ

ต่อมา โดนัลด์ เฮ็บบ์ ได้ศึกษาโครงสร้างและพัฒนากฎเกณฑ์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนา “โครงข่ายประสาทเทียม” มาร์วิน มินสกี และ ดีน เอ็ดมอนด์ นักศึกษามหาวิทยาลัย Princeton ได้ร่วมกันสร้างระบบโครงข่ายใยประสาทตัวแรกของโลก โดยใช้ชื่อว่า “SNARC” สร้างจากหลอดสูญญากาศ 3,000 หลอด และจำลองหน่วยประสาท 40 หน่วย

จนนำไปสู่การเสนอวิธีการทดสอบว่าโปรแกรมฉลาดหรือไม่ โดย อลัน ทัวริง เรียกว่า Turing test เพื่อใช้ทดสอบความสามารถของเครื่องจักร จะมี "สำนึก" และสามารถ "คิด" ได้หรือไม่

ปี 1955 ปัญญาประดิษฐ์ได้กำเนิดขึ้นอย่างเต็มตัวที่มหาวิทยาลัย Princeton โดยจอห์น แมคคาร์ธี, มาร์วิน มินสกี คล็อด แชนนอน, นาธาเนียล โรเชสเตอร์ และนักวิจัยจากสถาบันอื่นรวม 10 คน ร่วมกันทำวิจัยเรื่องทฤษฎีอัตโนมัติ (Automata Theory) โครงข่ายใยประสาทและศึกษาเรื่อง "ความฉลาด"

เริ่มช่วยงานอุตสาหกรรม

ปี 1961 บริษัท General Motors (GM) ได้ติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกเพื่อยกชิ้นส่วนโลหะที่มีอุณหภูมิสูงในสายการผลิต โดยหุ่นรุ่นดังกล่าวมีชื่อว่า Unimate ในปี 1968 หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ที่มีการติดตั้งปัญญาประดิษฐ์และควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ขนาดเท่าห้อง 1 ห้อง

“แชทบอท” เริ่มตั้งไข่

ปี 1964 เทคโนโลยีหุ่นยนต์โต้ตอบการสนทนา หรือ แชทบอท ถูกศึกษาและพัฒนาโดยศาสตราจารย์โจเซฟ ไวเซนบวม โปรแกรมเอลิซ่า ซึ่งใช้หลักการเลือกรูปแบบการตอบบทสนทนา ด้วยหลักภาษาและสถิติ หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาระบบมากมายจนถึงระยะหลังมีการใช้การเรียนรู้เชิงลึกและปัญญาประดิษฐ์ หลายคนกล่าวว่าเทคโนโลยีนี้ได้มาถึงจุดที่มนุษย์สามารถนำมาใช้งานได้จริงจึงได้มีความพยายามพัฒนาหุ่นยนต์โต้ตอบการสนทนาขึ้นมากมาย ปัจจุบัน มีบุคคล บริษัทและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง พยายามพัฒนาระบบหุ่นยนต์โต้ตอบการสนทนาขึ้น เช่น BotNoi (2017) และ HBot (2017)

ปี 1966 เชกกี้ (Shakey) หุ่นยนต์เคลื่อนที่ตัวแรกของโลกที่มีความคิดเป็นของตัวเอง พัฒนาโดยสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (SRI : Stanford Research Institute) ได้ถือกำเนิดขึ้น เชกกี้มีระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการประมวลผลภาพ และอุปกรณ์ตรวจรู้เป็นเครื่องบอกนำทางในการเคลื่อนที่

มนุษย์พ่าย AI

ในปี 1997 ความชาญฉลาดของมนุษย์ถูกท้าทายจากปัญญาประดิษฐ์ โดย แกรี่ กาสปาโรฟ แชมป์หมากรุกโลกชาวรัสเซีย ต้องเสียชัยชนะให้กับสมองกลที่ชื่อ ดีพบลู (Deep Blue) ซึ่งใช้หลักการค้นหาลึกและฟังก์ชั่นที่ซับซ้อน บนเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) และบริษัทไอบีเอ็ม (IBM) สมองกลรุ่นใหม่นี้ทำให้หุ่นยนต์มีการทำงานที่รวดเร็วมากขึ้น สามารถทำงานได้ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลภายในสมองกลของหุ่นยนต์เอง โดยไม่ต้องอาศัยการตัดสินใจจากมนุษย์

ปี 1999 หุ่นยนต์ได้ถูกพัฒนาความสามารถทางกายภาพ และความคิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บทบาทของหุ่นยนต์ได้เปลี่ยนจากเครื่องจักรกลที่ทำงานได้อย่างแม่นยำในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหุ่นยนต์ที่มีอารมณ์และความรู้สึก ในปี ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) หุ่นยนต์สุนัข ไอโบ้ (Aibo) พัฒนาโดยบริษัทโซนี่ (Sony) ประเทศญี่ปุ่น สร้างขึ้นให้มีลักษณะเหมือนสัตว์เลี้ยง มีความรู้สึกตอบสนอง เพื่อให้สามารถเป็นเพื่อนกับมนุษย์ได้

ปี 2002 ROOMBA หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่สามารถเคลื่อนที่ได้เองและทำความสะอาดบ้าน ซึ่งเป็นครั้งแรกในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากครั้งแรก

แอปเปิ้ล นำ Siri บรรจุใน ไอโฟน

ปี 2011 บริษัท แอปเปิ้ล ได้นำ Siri เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ IPhone s จัดเป็นหนึ่งในโปรแกรมสนทนาไม่ใช่โปรแกรมควบคุมหรือสั่งงานด้วยเสียง แต่ช่วงแรกได้รับเสียงตอบรับไม่ดีนักเนื่องจากในหลายประเทศยังคุยกันได้เข้าใจไม่ดีนัก ซึ่งแอปเปิ้ลพยายามปรับปรุงโปรแกรมการทำงานของสิริเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น

ปี 2014 คอมพิวเตอร์ chatbot ที่เรียกว่า ยูจีน กูสต์แมน ผ่านการทดสอบทัวริง โดย 3 ผู้พิพากษาที่เชื่อว่า Eugene เป็นมนุษย์ มาตรการในการระบุว่าเครื่องสามารถแสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของมนุษย์ได้ทั้งในความคิดคำพูดหรือการกระทำ การทดสอบทัวริงถูกเสนอโดยอลันทัวริงในทศวรรษ 1950 และเป็นพื้นฐานสำหรับปรัชญาเบื้องหลังปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ปี 2014 แอมะซอนเปิดตัว Alexa ซึ่งเป็นระบบผู้ช่วยเสมือน สั่งการด้วยเสียงทำหน้าที่เป็นการตัวช่วยในการช้อปปิ้ง

ปี 2016 บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) ได้พัฒนาระบบ AI ชื่อว่า “Tay” ที่มีความสามารถในแชทพูดคุยกับผู้คนผ่านช่องทางออนไลน์ อย่าง Twitter แต่สิ่งที่ “Tay” สามารถทำได้นอกจากการพูดคุยธรรมดาแล้ว “Tay” ยังสามารถโต้ตอบกับมนุษย์ด้วยมุขตลก หรือ ภาษาสแลง ได้เหมือนมนุษย์ปรกติ โดยการจดจำและใช้ข้อมูลจากการพูดคุย เพื่อพัฒนาตัวเองให้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องทักษะการพูดมากขึ้น แต่หลังจากถูกปล่อยมาไม่ถึง 24 ชั่วโมง Microsoft ได้ทำการออฟไลน์ “Tay” ไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเธอกลายเป็นพวกเหยียดชาติพันธุ์

ปี 2017 AlphaGo ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของ Google สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเอาชนะ เค่อเจี๋ย (Ke Jie) เซียนโกะชาวจีนมือวางอันดับ 1 ของโลก ติดต่อกันถึง 60 เกม


หากนับตั้งแต่ปี 1943 -2018 หรือกว่า 75 ปี ที่มีการคิดค้นปัญญาประดิษฐ์มาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงแรกการพัฒนาการไม่รวดเร็วมากนัก แต่ในช่วง 10 ปีหลังถือว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์พัฒนาขึ้นมากและน่าจับตาดูอย่างยิ่งว่าจะพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน 

 

 

ข้อมูลจาก :

digitalintelligencetoday.com

atom.rmutphysics.com


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง