วันนี้ (7 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการจับมือกับสถานศึกษาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการศึกษา "สัตหีบโมเดล" เพื่อผลิตบุคลากรป้อนโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลังคาดการณ์ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
สำหรับนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จะต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ คือไปโรงเรียน หรือวิทยาลัย 3 เดือน เเละไปสถานประกอบการ หรือโรงงาน 3 เดือน ซึ่งนักศึกษาที่เข้าโครงการ เมื่อเรียนจบเเล้ว บริษัทจะรับเข้าทำงานทันที เช่น นายรัชตะ วงศ์ศร พนักงานประกอบรถ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยูแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นนักศึกษารุ่นแรกที่เรียนจบและที่ได้ร่วมงานกับบริษัทมากว่า 10 เดือนแล้ว
ขณะที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ระบุว่า สัตหีบโมเดล เป็นรูปแบบการศึกษาที่พัฒนาหลักสูตรร่วมกันระหว่างสถานศึกษา ผู้ประกอบการ และองค์กรวิชาชีพ โดยเน้นให้ตรงกับความต้องการของโรงงาน ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้ว 24 แห่ง มีนักศึกษาที่ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ 400 คนจากสาขาต่างๆ โดยสัตหีบโมเดลมีการนำร่องที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเป็นแห่งแรกและรัฐบาลมีเป้าหมายขยายไปสู่วิทยาลัยในภาคตะวันออกรวม 12 แห่ง เพื่อผลิตบุคลากร เบื้องต้น 6,000 คน
ทั้งนี้ สิ่งที่สถานศึกษายังขาดคือการสนับสนุนครุภัณฑ์ในสาขาวิชาสมัยใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือชิ้นส่วนของเครื่องบิน โดยจะมีการเปิดหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น
น.ส.ประภาพร เทพหินลัพ ผู้ช่วยผู้จัดการด้านการพัฒนาบุคลากร บริษัท บีเอ็มดับเบิลยูแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้ให้ทำงานให้ฟรีๆ แต่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายและสวัสดิการให้จนจบหลักสูตรด้วย
ด้านนายปรัชญา สมะลาภา ประธานหอการค้าภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการสัตหีบโมเดลช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในระยะสั้นได้ แต่ไม่ได้สร้างพื้นฐานการศึกษาโดยรวมในอนาคต เเละก็เป็นเรื่องที่สถาบันการศึกษาจะต้องมีการปรับปรุงทบทวนหลักสูตรด้วย ซึ่งการสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการแรงงานควรเริ่มตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากการผลิตบุคลากรที่มีทักษะต้องใช้เวลา