วันนี้ (11 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เสียงปืนที่ดังขึ้นท่ามกลางบ้านหลายหลังที่บ้านโต๊ะดือลง ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ยังคงสร้างความหวาดหวั่นให้ประชาชนในบริเวณนี้ โดยเฉพาะครอบครัวของนางสือเมาะ มางัง ซึ่งเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหลังบ้านของเธอ และยังพรากเอาลมหายใจนายอิบรอเซง มูเซะ ลูกชายจากไปพร้อมกับเพื่อนอีก 4 คน โดยผู้เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า ขณะที่ผู้ตายทั้ง 5 คน นั่งคุยและรับประทานอาหาร ก่อนจะเริ่มต้นถือศีลอดในช่วงเช้ามืด ผู้ก่อเหตุ 4 คนสวมผ้าคลุมปิดบังหน้า ขับขี่รถจักรยานยนต์มาจอด แล้วใช้ปืน เอ็ม 16 ลูกซองยาวชนิด 5 นัด และปืนพกสั้น ขนาด .38 กราดยิง
เหตุการณ์ยิง 5 ศพใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อคืนนี้ เป็นความรุนแรงต่อเนื่องในช่วง 5 วันที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 10 คน นับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ซึ่งเกิดเหตุกราดยิงชาวบ้าน 4 ศพใน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับผู้ก่อเหตุแล้ว 8 คน หลังการตรวจสอบปลอกกระสุนปืนที่นำมาก่อเหตุ ตรงกับคดียิงชาวบ้านและกราดยิงทหารพรานพื้นที่หลายคดี
ถัดมาในวันที่ 8 มิถุนายน เกิดเหตุยิงนายอดุลย์เดช เจ๊ะแน รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานี เสียชีวิต ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่สรุปสาเหตุ และในวันที่ 9 มิถุนายน เกิดเหตุยิงนายฮามิ กาซอ เสียชีวิต และนางอามีเนาะ กาซอ ภรรยาได้รับบาดเจ็บที่ ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และเหตุยิงนายวีรชน ช้างพินิจ ที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ได้รับบาดเจ็บ
และเมื่อค่ำวานนี้ เกิดเหตุยิงนางยือนะห์ อาบูบากา แพทย์ ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เสียชีวิต ในช่วงกลางดึกเกิดเหตุกราดยิงชาวบ้านเสียชีวิต 5 คนที่ อ.บันนังสตา และในช่วงสาย ก็เกิดเหตุยิงนายอดุลย์ มะดีเยาะ ที่ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นเหตุยิงรายวันทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านความมั่นคงวิเคราะห์ว่า แม้ในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนจะเกิดเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่เหตุยิงรายวันก็ต้องสอบสวนอย่างละเอียด เพราะกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ หรือผู้ที่มีความแค้นส่วนตัว อาจอาศัยช่วงเวลานี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ไขว้เขว โดยเฉพาะความขัดแย้งของธุรกิจผิดกฎหมายอย่างยาเสพติด หลังพบว่ามีการเคลื่อนย้ายของเงินทุนค้ายาเสพติดเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงต้องวิเคราะห์หลักฐานในที่เกิดเหตุ ทั้งปลอกกระสุนปืน ภาพจากกล้องวงจรปิด หรือปากคำพยานแวดล้อมอย่างละเอียด
ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ จ.ปัตตานี ระบุว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุรุนแรงบางส่วนในพื้นที่ เกิดขึ้นการกระทำของกลุ่มแนวร่วมที่ถูกปลูกฝังความเชื่อที่บิดเบือน จึงสร้างความรุนแรงในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนถือศีลอด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามแผนยุทธการที่วางไว้ ทั้งการแฝงตัว และการดูแลประจำมัสยิดต่างๆ ของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เพื่ออำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มความถี่ของด่านตรวจในห้วงเวลาหลังการละหมาดตะรอเวียะห์ หรือละหมาดในช่วงค่ำเดือนถือศีลอด ซึ่งผู้ก่อเหตุมักใช้ห้วงเวลานี้ก่อเหตุยิงรายวัน