วันนี้ ( 19 มิ.ย.2561) ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ดูแลข้าวโพดที่ปลูกไว้อย่างดี เพราะหวังว่าเมื่อถึงเวลาขายจะได้ราคาสูงทำให้ครอบครัวมีรายได้ แต่หลังทราบข่าวเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวบาร์เลย์กว่า 120,000 ตัน เพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ ก็เกิดความกังวล เพราะปลูกข้าวโพดมากว่า 10 ปี ล่าสุดข้าวโพดมีราคาอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่รับได้แต่หากราคาต่ำกว่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
จากการสำรวจพบว่าปี 2561 ประเทศไทยมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ กว่า 8,250,000 ตัน โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเริ่มออกสู่ตลาดในเดือนมิถุนายน และจะออกมากที่สุดในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนของทุกปี
และหลังมีการอนุญาตให้นำเข้าข้าวบาร์เลย์ ทำให้เกษตรกรเป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบ และคาดหวังให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล เพราะนอกจากข้าวโพดแล้ว สินค้าเกษตรหลายอย่างก็มีราคาตกต่ำต่อเนื่องเช่นกัน
สมาคมอาหารสัตว์ ชี้แจงข้าวโพดไม่พอ ต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่น
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ยอมรับว่ามีการนำข้าวบาร์เลย์เข้ามาผลิตอาหารสัตว์เป็นครั้งแรกจริง และยังอาจมีพืชอื่นๆด้วย เพราะข้าวโพดในไทยมีไม่พอและราคาแพงผิดปกติ จนกระทบถึงผู้เลี้ยงสัตว์
นายพรศิลป์ ชี้แจงว่าปริมาณข้าวโพดในประเทศมีเพียง 5 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้ 8 ล้านตัน แม้นำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศตามเงื่อนไข นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพด 3 ส่วน ก็ยังขาดวัตถุดิบอีก 1 ล้านตัน
วัตถุดิบที่ขาดแคลน ยังมีผลให้ราคาข้าวโพดที่รัฐกำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รับซื้อในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งสูงกว่าตลาดต่างประเทศ มีราคาแพงขึ้นไปอีกมากกว่า 2 บาท ผู้ผลิตอาหารสัตว์มองว่าเป็นราคาผิดปกติ วัตถุดิบขาดตลาดและราคาแพงเกินไป ยังทำให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์หลายแห่งต้องปิดชั่วคราว
สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เสนอว่ารัฐควรลดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีกับการซื้อข้าวโพด เหลือ 1 ต่อ 2 ในฤดูกาลหน้า เพื่อให้มีข้าวสาลีเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับความต้องการใช้ ซึ่งไม่มีผลต่อราคาข้าวโพด เพราะถูกบังคับซื้อกิโลกรัมละ 8 บาทอยู่แล้ว ขณะเดียวกันราคาข้าวโพดที่สูงผิดปกติ ต้องมีการกำกับดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบกับต้นทุนอาหารสัตว์ โดยเฉพาะฟาร์มรายเล็กที่ซื้อไปผสมเอง
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่าราคาข้าวโพดที่แพงผิดปกติ เกษตรกรขายได้ราคาสูงจริงหรือไม่ หรือผลประโยชน์ตกกับใคร พร้อมต้องการให้ภาครัฐตรวจสอบการลักลอบนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านมาขายราคาแพง
โรงงานอาหารสัตว์ หยุดรับซื้อข้าวโพด
แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการดูแลราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการซื้อข้าวโพด แต่ราคาข้าวโพดที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 10 บาท ผู้ค้าข้าวโพดระบุว่า ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์นำเข้าพืชอื่นเข้ามาเพิ่มเพื่อลดต้นทุน และบางโรงงานผลิตอาหารสัตว์หยุดรับซื้อชั่วคราว เช่น ในเครือซีพี ที่หยุดรับซื้อไปหลายโรง ทำให้ผู้ค้ากังวลว่าหากผลผลิตเกษตรกรออกมามากในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า จะส่งผลต่อราข้าวโพดที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น
โรงงานซีพีอาหารสัตว์อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นหนึ่งในโรงงานอาหารสัตว์ ที่ผู้ค้าข้าวโพด ระบุว่าประกาศหยุดซื้อข้าวโพดมาประมาณ 1 เดือนแล้ว แต่ยังคงเดินเครื่องผลิตอาหารสัตว์
จากการสอบถามผู้ค้าข้าวโพดบางรายในพื้นที่ ระบุตรงกันว่าในช่วง 1-2 เดือน โรงงานผลิตอาหารสัตว์ในเครือซีพี หยุดรับซื้อข้าวโพดหลายโรง โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีสต็อกวัตถุดิบที่นำเข้า ทั้งข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์เหลือ จึงหยุดรับซื้อข้าวโพด ซึ่งขณะนี้ราคารับซื้อหน้าโรงงานสูงถึงกิโลกรัมละ 10 - 10.25 บาท ขณะที่ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ มีต้นทุนที่ต่ำกว่าหรือประมาณกิโลกรัมละ 7-8 บาท โดยผู้ค้ากังวลว่า หากโรงงานหยุดถึงช่วงผลผลิตออกมากในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ จะกระทบกับราคา
สำหรับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่หยุดรับซื้อข้าวโพดขณะนี้ มีทั้งสิ้น 13 โรงงาน จากจำนวนโรงงานทั้งหมด 50 โรงงาน ที่เป็นสมาชิกสมาคมผลิตอาหารสัตว์ โดยพบว่าโรงงานที่ปิดรับซื้อ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือซีพี เกือบ 10 โรงงาน ในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ไม่ใช่เครือซีพีอีกประมาณ 4 โรงงาน ที่หยุดรับซื้อเช่นกัน
นายเทิดศักดิ์ ลาภจิตรกุศล กรรมการหอการค้า จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า การหยุดซื้อข้าวโพดของบริษัทในเครือซีพี มีผลต่อราคาข้าวโพดเพราะเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ มีส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งของตลาด และเป็นผู้กำหนดราคา
ขณะที่ตัวแทนสภาเกษตรกรบางคน ระบุว่าการนำเข้าข้าวสาลีและข้าวบาเลย์ที่มากเกินไป ย่อมส่งผลต่อราคาข้าวโพดที่ใช้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดแห่งชาติ จะมีมาตรการดูแลราคาข้าวโพด โดยกำหนดให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพด 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน อาจจะทำให้มาตรการนี้ไม่ได้ผล เพราะยังมีช่องว่างในการนำเข้าพืชคาร์โบไฮเดรตมาทดแทน เช่น ข้าวบาร์เลย์ จึงเห็นว่าควรมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลพืชที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์โดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถควบคุมการนำเข้าดูแลวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม