วันนี้ (21 มิ.ย.61) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงข่าวเกี่ยวกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับชาวบ้าน 7 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.สมุทรสาคร จ.เพชรบุรี จ.สระบุรี และ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีโรงงานเกี่ยวกับการคัดแยกขยะรีไซเคิล ประเภท 105, 106 และ 101 ตั้งภายในพื้นที่และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า การนำเข้าของเสียอันตรายที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ในไทย โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพลาสติก ขยะเคมี และขยะอันตรายอื่นๆ อีกจำนวนมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมทยอยออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเว้นไม่ต้องปฎิบัติตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เกี่ยวกับการดำเนินการ การขออนุญาต และขึ้นทะเบียน ส่งผลให้การผลิต การนำเข้า การส่งออก และการครอบครองของเสีย และขยะดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต, การตรวจสอบดำเนินคดีไม่มีประสิทธิภาพ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้
ขณะที่อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายก็มีข้อจำกัด และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 ที่ประกาศยกเว้นผังเมืองรวม เพื่อให้กิจการโรงงานประเภท 101 105 106 ดำเนินการได้ ซึ่งทางรัฐบาล คิดว่าจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาขยะภายในประเทศ แต่กลับทำให้มีการขยายโรงงานไปตั้งในพื้นที่ไม่เหมาะสม ทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเราวันนี้ ปัญหามันใหญ่มาก เปิดเสรีให้นำเข้าขยะทุกประเภท ตอนนี้ขยะจากยุโรป อังกฤษกำลังมาที่ไทย เกิดคำถามว่าไทยจะเป็นถังขยะนานาชาติหรือไม่ การปลดล็อกการบังคับใช้กฎหมาย ชุมชมที่อยู่ใกล้เคียงโรงงานจะได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมายใด
ที่ประชุมเรียกร้องให้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง พร้อมเสนอยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. และประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่เอื้อกิจการโรงงาน 101 105 และ 106, จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สอบสวนเอาผิดกับการออกใบอนุญาตนำเข้าและการตั้งโรงงานที่ไม่เหมาะสม รวมถึงสอบสวนข้าราชการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้น, ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. ... ฉบับที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการตั้งโรงงานและรวบรัดขั้นตอนการอนุญาตต่างๆ จนอาจส่งผลเสียต่อประเทศในระยะยาว, แยกอำนาจการกำกับเรื่องการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและมลพิษกับการส่งเสริมการสร้างโรงงานออกจากกัน หรือรื้อโครงสร้างของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และทบทวนและปรับปรุงแก้ไขการทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ไทยทำไว้กับประเทศหรือกลุ่มประเทศต่างๆ เพื่อห้ามนำเข้าสินค้าประเภทขยะอันตราย
ควรจะต้องมีมาตรการให้โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการคัดแยก ฝังกลบ แปรรูปของเสีย โดยเฉพาะของเสียอันตราย จะต้องประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพราะกิจการเหล่านี้มีผลกระทบรุนแรง มีสารอันตราย
ขณะที่ นิวัช ชัชวาลย์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่มีโรงงานมาตั้งบริเวณต้นน้ำของลำห้วยน้ำพุ ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชาวบ้าน ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ ได้ประกาศห้ามชาวบ้านใช้น้ำ โดยอยู่ระหว่างการฟ้องศาลปกครองและศาลแพ่งเพื่อปิดโรงงานแห่งนี้
ทั้งนี้ โรงงานที่ให้บริการจัดการกากอุตสาหกรรมประกอบด้วยโรงงานที่ขึ้นทะเบียนเป็นโรงงาน ประเภท 101, 105 และ 106 ข้อมูลสิ้นสุดปี 2559 ไทยมีโรงงานบำบัดและกำจัดของเสีย 2,210 แห่ง โดยแบ่งเป็นโรงงานขยะประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ 148 แห่งและที่เหลือโรงงานรีไซเคิลทั่วไป ซึ่งมีการเพิ่มมากขึ้นในช่วง10ปี ส่วนการนำเข้าของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซล ระหว่างปี 2557-2559 พบว่า มีการนำเข้าของเสียอันตรายรวมถึงของเสียอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซลหลายชนิด ของเสียอันตรายที่นำเข้าสูงสุด คือ ขี้แร่ เถ้าและกาก พบนำเข้าปี 2559 จำนวน 508 ตัน มูลค่า 9 ล้านบาท