ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"มือถือ" ซ่อนสารพิษ

สิ่งแวดล้อม
21 มิ.ย. 61
17:44
4,333
Logo Thai PBS
"มือถือ" ซ่อนสารพิษ
รู้หรือไม่ในโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องมีสารโลหะหนัก 5 ตัว สารเหล่านี้แม้จะไม่ส่งผลต่อชีวิตในทันที แต่ถ้าอยู่รวมกันจำนวนมากและไม่มีการกำจัดที่ถูกวิธี จะซึมออกมาสะสมเป็นผลกระทบให้กับเราในที่สุด ปัญหานี้ยังพอรับมือได้ด้วยการนำโทรศัพท์มือถือทิ้งในจุดบริการ

โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่งที่มีอัตราการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน ท่ามกลางโลกสื่อสารที่ไม่ยุดนิ่ง ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจึงนิยมเปลี่ยนรุ่นตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้สามารถใช้งานได้รอบด้าน

แต่ผลของการเปลี่ยนมือถือรุ่นใหม่เรื่อยๆ ส่งผลให้มือถือเหล่านั้นกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่หลายภาคส่วนกำลังห่วงใยถึงการกำจัด

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า โทรศัพท์มือถือเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้วัสดุที่เป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ เมื่อชำแหละชิ้นส่วนต่างๆ ภายในโทรศัพท์มือถือ จะมีสารโลหะหนักผสมอยู่ ได้แก่

  • แคดเมียม : พบได้จากสายหูฟัง สาย USB สายชาร์จ เมมโมรีการ์ด แบตเตอรี่ และแผงวรจรอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไตและกระดูก

 

  • โครเมียม : พบหลักๆ ในแผงวรจรอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นสารก่อมะเร็งสำหรับมนุษย์

 

  • สารปรอท : พบได้จากพลาสติกที่นำมาผลิตเคสโทรศัพท์มือถือและสายไฟ แต่ไม่ค่อยพบมากนักในโทรศัพท์มือถือ เป็นตัวทำลายสมองและระบบประสาทส่วนกลาง

 

  • ตะกั่ว : พบในแผงวรจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียความสามารถด้านสมองของเด็ก และทำลายระบบประสาท ระบบเลือดและระบบสืบพันธุ์ในผู้ใหญ่

 

  • สารประกอบโบรมีน :ใช้เพื่อป้องกันการติดไฟ จะพบในเคสโทรศัพท์มือถือ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ การสัมผัสสารชนิดนี้เป็นเวลานานทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ และความทรงจำสูญเสียไป รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนของต่อมไธรอยด์และเอสโตรเจน หากสัมผัสกับตัวอ่อนในมดลูกอาจทำให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรม

 

สารโลหะหนักดังกล่าวจะไม่สามารถไหลหรือซึมออกมาได้ หากเราเก็บรักษาโทรศัพท์มือถือไว้อย่างดี แต่หากโทรศัพท์มือถือที่ถูกทิ้งอย่างละเลย โดนความร้อน ความชื้น จนไม่เหลือสภาพ สารโลหะหนักก็จะสามารถซึมออกมาได้

นายธารา กล่าวว่า โทรศัพท์มือถือยังถูกทิ้งรวมอยู่กับขยะทั่วไป การกำจัดด้วยการเผาหรือฝั่งกลบ ยังมีความเสี่ยงที่โลหะหนักเหล่านั้นรั่วไหลออกมาได้ จึงเห็นว่าผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือควรแสดงความรับผิดชอบตั้งแต่การผลิตไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของวงจรสินค้า เพื่อป้องกันวิกฤตขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยออกแบบให้สินค้าปราศจากสารเคมีอันตราย หยุดใช้วัสดุที่เป็นอันตรายและเลือกใช้สารอื่นที่ปลอดภัยกว่ามาทดแทน และรับคืนสินค้ากลับคืนมาเพื่อนำมาใช้ใหม่ รีไซเคิล หรือกำจัดอย่างปลอดภัย

นายธารา กล่าวทิ้งท้ายว่าหลายคนอาจมองว่าโอกาสเจอสารพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์มีน้อยมากและเป็นเรื่องไกลตัว แต่เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ถูกทิ้งอย่างผิดวิธีในแหล่งน้ำธรรมชาติ สารพิษอาจย้อนกลับมาหาเราผ่านสัตว์น้ำชนิดต่างๆ หรือแม้กระทั่งชุมชนที่อยู่ใกล้กับโรงงานรีไซเคิลก็อาจได้รับสารพิษเหล่านั้นจากอากาศที่ส่งมาจากโรงงานโดยไม่มีระบบมาตรฐาน สิ่งที่เราทำได้ในขณะนี้คือนำโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วไปทิ้งในจุดที่รับบริการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดการอย่างถูกวิธี

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ชง คสช.ยกเลิกโรงงานรีไซเคิล ตัดวงจรขยะพิษ

เคลียร์ขยะพิษ-พลาสติกตกค้างกว่า 2 แสนตัน หยุด! นำเข้าเพิ่ม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง