วันนี้ (27 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กว่า 90 ชั่วโมง ที่กำลังพลของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือ หน่วยซีล นำทีมจาก อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ร่วมในภารกิจค้นหาผู้ช่วยโค้ชและนักฟุตบอลเยาวชน "ทีมหมูป่าอะคาเดมี่" ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย
แม้จะมีข้อจำกัดทางธรรมชาติ ทั้งโคลนดูดและระดับนํ้าที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งตาน้ำภายในถ้ำ ที่ทำให้มีน้ำใต้ดินไหลไม่ขาดสาย แต่ความหวังที่จะพบทั้ง 13 ชีวิต เป็นเป้าหมายของภารกิจครั้งนี้ที่ต้องทำให้สำเร็จ
หน่วยซีลต้องผ่านหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ มนุษย์กบมาแล้ว ระยะเวลายาวนาน 7-8 เดือน และมีการฝึกแบบเข้มข้น หรือ "สัปดาห์นรก" 120 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก และในช่วงชีวิตที่รับราชการอยู่ในหน่วยนี้ ยังต้องฝึกรักษามาตรฐานในภารกิจพิเศษต่าง ๆ เช่น การลาดตระเวน สงครามนอกแบบ และการต่อต้านการก่อการร้าย จึงได้ชื่อว่าเป็นหน่วยที่ได้รับการฝึกหนักที่สุดในบรรดาหน่วยรบพิเศษของทุกเหล่าทัพ
สัญลักษณ์ของหน่วยซีลยังสื่อถึงศักยภาพที่ผ่านการฝึกอย่างหนัก ปลาฉลาม หมายถึงจ้าวแห่งท้องทะเล คลื่น สื่อถึงความน่ากลัวของท้องทะเลหรืออุปสรรค สมอเรือสื่อตรงถึงความเป็นทหารเรือและธงชาติ หมายถึงการยอมพลีเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
กฎสำคัญของนักทำลายใต้น้ำจู่โจมจึงครอบคลุมทั้งจิตใจเข้มแข็ง กล้าเผชิญหน้าต่อปัญหาต่าง ๆ ตัดสินใจด้วยความเด็ดขาด รวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง เอาตัวเองรอดได้โดยไม่ทิ้งเพื่อน และมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
นอกจาก หน่วยซีลของกองทัพเรือปฏิบัติช่วยเหลือ 13 ชีวิต ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน กองทัพบกยังส่งกองพันปฏิบัติการพิเศษ 15 นาย และกรมรบพิเศษที่ 5 เชียงใหม่ สังกัดหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ พร้อมเฮลิคอปเตอร์แบบ MI 17 เสริมภารกิจค้นหารอบนอกและด้านบนตัวถ้ำ
ขณะที่ กองทัพอากาศยังไม่มีแผนส่งหน่วยพลร่มกู้ภัย (พีเจ) อีกหนึ่งหน่วยรบพิเศษของกองทัพไทย เพราะขณะนี้กำลังของทีมช่วยเหลือมีเพียงพอ แต่ก็ได้เตรียมพร้อมส่งกลับสายแพทย์ทางอากาศกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ค้นหาตลอดคืน! ภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงวันที่ 5