หลังจากสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนปฏิบัติงานรายงานความคืบหน้าการกู้ภัยและเหตุการณ์หลังจากช่วยผู้ประสบภัยทั้ง 13 ชีวิต โดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลและร่วมกันนำเสนอประเด็นอย่างสร้างสรรค์ โดยข้อกังวลหนึ่งคือการตั้งคำถามในการสัมภาษณ์ สื่อต้องไม่ตั้งคำถามที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แตกแยก และสร้างความสะเทือนใจ
ผศ.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้โพสต์คำแนะนำเกี่ยวกับคำถามสร้างสรรค์สำหรับสื่อมวลชนในเฟซบุ๊กส่วนตัว Warat Karuchit กรณีที่จะสัมภาษณ์เด็กและโค้ชรวม 13 คน หลังออกจากถ้ำหลวงแล้ว โดยยกตัวอย่างที่ควรถามและไม่ควรถาม และย้ำว่าควรมีจิตแพทย์เด็ก ช่วยให้คำแนะนำคัดกรองคำถาม หรืออาจจะประกบในการสัมภาษณ์ด้วย
คำถามที่ควรถาม
- รักษาชีวิตรอดได้อย่างไร เทคนิคในการเอาตัวรอด
- ท้อแท้บ้างหรือไม่ แล้วสร้างกำลังใจให้ตัวเองอย่างไร เอาชนะความกลัวได้อย่างไร
- พยายามสื่อสาร หรือทิ้งร่อยรอยเอาไว้ให้ติดตามอย่างไรบ้าง
- ใครเป็นฮีโร่ เป็นต้นแบบในถ้ำ ในเรื่องความกล้าหาญ
- ถ้าคิดในแง่ดี ความประทับใจจากเหตุการณ์นี้คืออะไร
- ดูแลกันเองอย่างไร
- ตอนอยู่ในถ้ำ คิดว่าถ้าออกไปได้จะทำอะไร
- แล้วตอนนี้คิดอยากจะทำอะไรต่อไป อนาคตอยากเป็นอะไร
- อยากขอบคุณใครบ้าง อยากบอกอะไรกับคนที่คอยให้กำลังใจ
- บทเรียนสำคัญที่ได้รับจากเหตุการณ์นี้
คำถามที่ไม่ควรถาม
- รู้สึกผิดไหม
- เป็นความผิดใคร ถ้าจะโทษต้องโทษใคร
- เข็ดไหม คงจะไม่เข้ามาอีกแล้วใช่ไหม
- ต่อไปคิดว่าจะกลัวความมืด กลัวถ้ำไหม
- ได้ทำอะไรลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเปล่า
- รู้ไหมว่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน พ่อแม่ ทุกคนเป็นห่วง
- รู้ไหมว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดคือ ...
- มีใครติดต่อไปเล่นละคร เล่นหนังหรือยัง
- มีลางอะไรไหม ก่อนเข้าถ้ำ ระหว่างอยู่ในถ้ำ
- ใครมาเข้าฝันบ้างมั้ย (หรือไปเข้าฝันใครบ้างไหม!)
- ดีใจไหมที่มีคนมาช่วย (คงเสียใจมั้ง!)
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอสื่อระวังการตั้งคำถาม
จากเหตุการณ์นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีและผู้ฝึกสอนรวม 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และเจ้าหน้าที่สามารถค้นหาจนพบแล้ว เมื่อค่ำวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ในสถานการณ์การรายงานข่าวต่อจากนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนนำเสนอข่าวให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเคารพสิทธิของเด็กและผู้ประสบภัย ดังนี้
1.สื่อมวลชนควรร่วมหารือแนวทางการนำเสนอข่าวร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยและครอบครัว ในลักษณะของการทำข้อมูลร่วมกัน (Pool Interview) เพื่อให้ผู้ประสบภัยไม่ต้องเสียเวลาในการตอบคำถามเดียวกันจากแต่ละสำนักข่าว และมีเวลาในการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจได้เต็มที่ การรายงานสถานการณ์ควรร่วมมือกันทำงานไปในทิศทางเดียวกันและแบ่งปันข้อมูลกันเพื่อให้เป็นระเบียบและไม่เกิดการแย่งชิงพื้นที่จนกระทบต่อสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้ประสบภัย และส่งผลต่อคุณภาพของการรายงานข่าว รวมทั้งอาจขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชน
2.สื่อมวลชนควรทำงานร่วมกับแพทย์และนักจิตวิทยาเพื่อให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ รูปแบบการตั้งคำถาม การปฏิบัติตัวต่อผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสม พึงระวังไม่ตั้งคำถามที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
แตกแยก สร้างความสะเทือนใจ สื่อควรทำหน้าที่รายงานข่าวเพื่อให้สังคมเข้าใจสถานการณ์ และไม่ทำให้เกิดการแสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสมต่อประเด็นอันจะกระทบต่อผู้ประสบภัยในทางที่ไม่สมควร
3.พึงละเว้นการสืบค้นประวัติ ภาพ และข้อมูลของเด็ก เยาวชน และผู้ฝึกสอน อันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และกระทบต่อสิทธิในการกลับสู่การใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่ตกเป็นเป้าของสังคมผ่านการนำ
เสนอเจาะลึกชีวิตของสื่อ
4.พึงระวังการนำเสนอที่เป็นลักษณะของการพยายามหาคนผิดของเหตุการณ์ แต่ควรมีการรายงานข่าวที่นำไปสู่การหาทางออกและการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงระบบ เช่น การถอดบท
เรียนการบริหารจัดการ การจัดระเบียบและความปลอดภัยของการท่องเที่ยว และการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น
ทั้งนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขอขอบคุณและชื่นชมสื่อมวลชนที่ร่วมกันนำเสนอสถานการณ์อย่างรอบด้าน ชัดเจน และช่วยกันตรวจสอบข้อมูลเพื่อเป็นที่พึ่งของสังคม โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ใน การรายงานสถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารของคนในสังคม จากนี้ไปการขยายประเด็นข่าวให้มีความสร้างสรรค์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมและแนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะเป็นบทพิสูจน์คุณค่าของสื่ออาชีพในการเป็นที่พึ่งของสังคมอย่างแท้จริงต่อไป