ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หนองจิก" ตั้งเป้าลดยากจน มุ่งต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตร

ภูมิภาค
16 ก.ค. 61
13:58
839
Logo Thai PBS
"หนองจิก" ตั้งเป้าลดยากจน มุ่งต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตร

อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 1 ในเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" รัฐบาลผลักดันเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เช่น การทำนา สวนมะพร้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และประมง เพาะเลี้ยงสัตว์ชายฝั่ง ใช้งบประมาณเบื้องต้น 154 ล้านบาท

นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหนองจิก กล่าวว่า หนองจิกเป็นประตูเชื่อมสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นชุมทางเชื่อมโยงระบบคมนาคม ขนส่ง การพัฒนาพื้นที่จึงเน้นให้การเกษตรมีชีวิตอีกครั้ง ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ สู่เป้าหมายเมืองเกษตรแปรรูปผสมผสาน

 

นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา

นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา

นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา

 

สำหรับการเพาะปลูกใช้หลักคิดการลดต้นทุน แปรรูปวัตถุดิบทั้งจากภาคเกษตร ประมง ปศุสัตว์ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยมีตลาดเป็นตัวนำ ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับต้นทุนในหมู่บ้าน หรือชุมชน รวมทั้งเพิ่มทักษะกระบวนการจัดการ สามารถนำผลผลิตเข้าสู่ระบบโรงงาน หรือแปรรูปได้ด้วยตัวเอง

 

หนองจิกลดเหลื้อมล้ำ เน้นรวมกลุ่มเกษตรกร

นายอำเภอหนองจิก กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่อย่างยั่งยืน จะต้องสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับฐานราก คือ ครอบครัว อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นด้านการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ เพื่อเอื้อให้นักลงทุนเข้ามา เริ่มจากพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ หรือเกษตรกร ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ทั้งมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน เพื่อส่งแปรรูปและส่งออกไปจำหน่าย หวังลดความเหลื่อมล้ำของเกษตรกร ลดครัวเรือนตกเกณฑ์รายได้ 30,000 บาทต่อคนต่อปี โดยการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) พบว่า ปี 2559 ชาวหนองจิกตกเกณฑ์ จปฐ. จำนวน 862 ครัวเรือน ซึ่งมากที่สุดใน จ.ปัตตานี

“หลายตำบลหลายหมื่นไร่รวมเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เป็นเอสเอ็มอี โอท็อป วิสาหกิจชุมชน อุตสาหกรรมขนาดเล็กในหมู่บ้าน ชุมชน ส่วนทุนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนจะต้องตอบโจทย์ของพื้นที่ โรงงานทำงานควบคู่กับพี่น้องเกษตรกร อย่างโรงงานปาล์มน้ำมันก็เข้าไปให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ไม่ได้มุ่งเน้นแต่กำไร เป็นเมืองต้นแบบตั้งแต่ความคิด การทำงานร่วมกัน ใครจะยืนอยู่คนเดียวไม่ได้ การพัฒนาต้องไม่ย้อนแย้งกับวิถีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ประชาชนมีรายได้ การศึกษาที่ดีขึ้น”

 

 

 

นอกจากนี้ ท้องถิ่นยังร่วมพัฒนาพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนการผลิต จาก 5,000 บาทต่อไร่ เหลือ 3,000 บาทต่อไร่ เน้นความปลอดภัยด้านอาหาร สีข้าวเองและขายเอง ราคา 40 บาทต่อกิโลกรัม หรือตันละ 40,000 บาท ส่วนกลุ่มแม่บ้านศรีบารูบางตาวา แก้ปัญหาปลาล้นตลาด ราคาตกต่ำ ด้วยการแปรรูปปลากุเลาเค็ม ปลาหวาน เน้นปลอดสารพิษ

 

one stop service เอื้อลงทุนจังหวัดชายแดนใต้

นายดำรงค์ อินโท ผู้อำนวยการส่วนงานขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องการขยายฐานการผลิตปาล์มน้ำมัน ซึ่งท้องถิ่นและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อบรมเพิ่มทักษะความรู้ พร้อมส่งเสริมการใช้ปาล์มอย่างครบวงจร ทั้งการแปรรูป นำไปใช้ในส่วนพลังงานชีวมวล ตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตจาก 3.5 ตัน ต่อไร่ ต่อปี เป็น 5.5 ตัน ต่อไร่ ต่อปี ส่วนผู้ประกอบการและแปรรูปมะพร้าว ต้องการผลผลิตรายละ 7 ล้านลูกต่อเดือน ขณะนี้ในพื้นที่มีผลผลิตเพียงร้อยละ 50 โดยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ปลูกมะพร้าว 100,000 ไร่ อีกทั้งเตรียมจัดตั้งโรงงานแปรรูปมะพร้าวในเดือนตุลาคม 2561 และเพิ่มไลน์การผลิตในปี 2562 นอกจากนี้ ศอ.บต. ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ขยายฐานโคเนื้อ รองรับความต้องการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งเป้าเพิ่มแม่พันธุ์โคเป็น 18,000 ตัว

 

 

ส่วนการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการนั้น ได้เสนอ ครม. จัดโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จูงใจผู้ประกอบการลงทุน, จัดตั้งศูนย์ one stop service ที่ ศอ.บต. ทั้งการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ จัดตั้งโรงงาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ

 

ผลักดันท่าเทียบเรือปัตตานี เชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้า

ขณะที่กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างศึกษาโครงการท่าเทียบเรือปัตตานี เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนกังวลว่าระบบขนส่งสินค้าอาจไม่ดีพอ ไม่เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม

สอดคล้องกับความเห็นของ นายบุญเกียรติ ก่อเกียรติพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทปัตตานีผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเพื่อส่งออก ที่ต้องการให้รัฐบาลผลักดันโครงการท่าเทียบเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้า

นายบุญเกียรติ กล่าวว่า โรงงานได้แปรรูปอาหารทะเล เช่น ปลาทูน่า ปลาแมคเคลเรล ปลาซาร์ดีน และอาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อออกการส่งออกไปจำหน่ายยังหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส จาไมก้า ประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง และอาเซียน โดยส่งเสริมการจ้างงาน 1,200 คน ส่วนใหญ่เป็นชาว จ.ปัตตานี รวมทั้งรับซื้อปลาส่วนหนึ่งจากชาวประมงพื้นบ้าน เช่น ปลาทูแขก ปลาหลังเขียว เพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง