วันนี้ (31 ก.ค.2561) นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า เหตุการณ์ดินถล่มที่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ทำให้มีคนเสียชีวต 8 คน เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางกรมทรัพยากร ธรณี ได้ส่งทีมนักวิชาการด้านธรณีวิทยา ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพธรณีวิทยาแล้ว และพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าสาเหตุของดินถล่มเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะสภาพทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งบนแนวรอยแยกของภูเขา ที่ในอดีตเคยมีประวัติดินถล่ม เป็นหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบทางธรณี ประกอบกับปัจจัยเรื่องปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตรในช่วงหลายวันก่อนเหตุ
เบื้องต้นหากดูจากแผนที่หมู่บ้านเสี่ยงภัยดินถล่มที่กรมทรัพยากรธรณี เคยจัดทำไว้เมื่อปี 2557 พบว่าทั่วประเทศมีจำนวน 51 จังหวัด รวมตัวเลข 5,000 หมู่บ้าน แบ่งเป็น 3 ระดับคือเสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงน้อย ขณะที่พบว่าที่ จ.น่าน มีหมู่บ้านเสี่ยง 15 อำเภอ รวม 384 หมู่บ้าน โดยพื้นที่ อ.บ่อเกลือ มีจำนวน 22 หมู่บ้าน
ขณะนี้อาจจะต้องมีการทบทวนตัวเลขหมู่บ้านเสี่ยงดินถล่มทั้งหมดใหม่อีกครั้ง แต่ข้อเสนอเบื้องต้น ยังยืนยันว่าหมู่บ้านห้วยขาบ จำเป็นต้องย้ายออกจากพื้นที่ เพราะยังมีดินที่ค้างบนเขาและอาจจะถล่มซ้ำลงมาได้
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี
โครงสร้างทางธรณีวิทยา-เนื้อหินโบราณ
ด้านนายนิวัติ บุญนพ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ดินถล่มที่บ้านห้วยขาบ เป็นเคสที่ไม่พบได้บ่อยในเหตุการณ์ดินถล่มในไทย เพราะเป็นดินถล่มลงมาจากภูเขา ที่ผ่านมาจะถล่มมาตามร่องน้ำ จากการลงพื้นที่พบว่า ดินมีความชุ่มน้ำมาก และยังมีรอยดินที่ยังค้างถล่มลงมาไม่หมด แสดงว่าน้ำใต้ผิวดินที่ปกคลุมหมวดหินสะปัน ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำ และน้ำเป็นตัวที่ทำให้การสลายสมดุลของดินและหิน จึงมีโอกาสที่เลือนหลุดตามความชัน ยิ่งชันมากยิ่งแรง
ข้อมูลโครงสร้างทางธรณีวิทยาหลายประเด็นที่น่ากังวล เจอร่องรอยว่าหมู่บ้านห้วยขาบตั้งอยู่บนดินถล่มโบราณน่าจะมีอายุหลายร้อยปีจนถึงพันปี โดยพิสูจน์จากกรวดหิน ตะกอนหินทราย และหินทรายแป้ง ลักษณะเหลี่ยมมี ขนาดใหญ่สุดแค่ 10- 20 ซม. และมีเหลี่ยมคม บ่งชี้ว่าดินถล่มจุดนี้ไม่ได้มาจากต้นน้ำที่จะมีลักษณะกลมมน และผ่านการคัดขนาด
ขณะที่จ.น่าน มีกลุ่มรอยเลื่อนปัว ซึ่งเป็นแนวรอยเลื่อนที่มีพลังพาดผ่านจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ของจังหวัด การที่เป็นกลุ่มรอยเลื่อน หมายถึงไม่ใช่มีแค่เส้นเดียว แต่อาจจะมีแนวทิศทางที่ตัดขวางเหมือนกับจิ๊กซอร์มาต่อกัน การทีมีแนวรอยเลื่อนถ้าอดีตเคยมีการขยับตัว จะยิ่งไปเสริมให้ดินและหินของหมวดหินสะปัน มีอายุ 65-70 ล้านปีถูกบีบอัดจนเกิดรอยแตก รอยแยกในชั้นหิน ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้จึงไม่ปลอดภัยจากปัจจัยทางธรณีวิทยา
"บ้านห้วยขาบ" นอกแผนที่เสี่ยงดินถล่ม
ชาวบ้านที่รอดตายเล่าให้ฟังว่า ก่อนดินถล่มมีเสียงดังมากบนภูเขา ห่างจากจุดเกิดเหตุใช้เวลา 2 นาทีดินถล่ม ลงมาทับบ้านไป 4 หลังในจุดที่ใกล้ที่สุด แสดงถึงความแรงของดินถล่มที่พื้นที่ ซึ่งยังมีปัจจัยเรื่องหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ลาดชันเกิน 50 ปกติเกิน 30 ก็ว่าอยู่ในระดับที่อันตรายแล้ว
นายนิวัติ กล่าวว่าหากเปิดแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่มที่ อ.บ่อเกลือ บ้านห้วยขาบ เป็นพื้นที่เสี่ยงน้อย แต่กลับกลายว่าถล่มก่อน มีหลายเรื่องที่ต้องมาทบทวนปัจจัยเพิ่มเติม เพราะที่นี่ฝนไม่ได้ตกเกิน 100 มิลลิเมตรต่อวันจนต้องแจ้งเตือน แต่ฝนตกสะสมเฉลี่ย 50-60 มิลลิเมตรแต่เมื่อรวมกัน 4-5 วันสะสมเป็นกว่า 200 มิลลิเมตร
ขณะนี้ต้องเร่งตรวจสอบหมู่บ้านเสี่ยงที่นอกเหนือการประเมินเดิมให้เร็วที่สุด ซึ่งพื้นที่ตลอดตลอดเส้นทางจากจ.น่าน ไปทางอ.ปัว จนเข้าเขต อ.บ่อเกลือ จะพบว่าทั้งสองข้างทาง จะมีกองดินเป็นระยะๆ และพวกนี้จะเกิดจากสภาพทางธรณีวิทยาคล้ายกัน ทั้งนี้ไม่ต้องการให้ตื่นตระหนก แต่อยากให้ชุมชนเสี่ยงต้องเตรียมความพร้อม
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากแผนที่เสี่ยงหมู่บ้านดินถล่ม จ.น่าน มี 15 อำเภอรวม 71 ตำบล มีหมู่บ้านเสี่ยง 384 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้พบว่าที่บ่อเกลือ 22 หมู่บ้าน ไม่มีชื่อของหมู่บ้านห้วยขาบ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสีแดง ส่วนที่ อ.ปัว 35 หมู่บ้าน อ.นาหมื่น 46 หมู่บ้าน อ.นาน้อย 45 หมู่บ้าน อ.เวียงสา 50 หมู่บ้าน อ.เฉลิมพระเกียรติ 18 หมู่บ้าน
ด้านนายธนวัฒน์ จรรมรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยขาบ บอกว่า จากการพูดคุยกับชาวบ้านทั้ง 60 ครัวเรือนยอมรับที่จะย้ายออกไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มซ้ำลงมาอีก และหลังจากนี้คงต้องรอดูว่าพื้นที่ไหนที่ทางราชการจะนำชาวบ้านไปอยู่ แต่เบื้องต้นได้รับการยืนยันว่าไม่ไกลจากชุมชนเดิมมากนัก และยังเข้ามาทำกินในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ยอมรับว่าหลายคนเครียดและกลัว
อ่านข่าวเพิ่มเติม