ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ห้ามพลาด! ดาวอังคารใกล้โลกสุดในรอบ 15 ปี

Logo Thai PBS
ห้ามพลาด! ดาวอังคารใกล้โลกสุดในรอบ 15 ปี
วันนี้ (31 ก.ค.2561) ชวนชมดาวอังคารโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 15 ปี มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน มีขนาดใหญ่ที่สุดและสว่างที่สุด ตั้งแต่ช่วงดวงอาทิตย์ตกจนถึงรุ่งเช้า

วันนี้ (31 ก.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพชุดดาวอังคารมีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นและสว่างมากขึ้น พายุฝุ่นเริ่มเบาบางลง มองเห็นขั้วน้ำแข็งและพื้นผิวได้ชัดเจนขึ้นมาก

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า สดร. เริ่มบันทึกภาพดาวอังคารตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบขนาดปรากฏและความสว่างในช่วงที่ดาวอังคารโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อย ๆ ภาพชุดดังกล่าวนำภาพถ่ายดาวอังคารมาเรียงเปรียบเทียบให้เห็นขนาดปรากฏที่ใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจนและปรากฏเต็มดวงมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงมีความสว่างปรากฏมากขึ้นด้วยเช่นกัน สามารถมองเห็นขั้วน้ำแข็งและพื้นผิวดาวอังคารได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายในช่วงกลางเดือน มิ.ย.เกิดพายุฝุ่นขนาดใหญ่ปกคลุมพื้นผิวดาวอังคารเป็นบริเวณกว้าง จึงไม่สามารถเก็บรายละเอียดพื้นผิวดาวอังคารได้ชัดเจนเท่า 2 ปีก่อน


ภาพล่าสุดเป็นภาพดาวอังคารในคืนวันที่ 27 ก.ค.2561 ซึ่งโคจรมาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เห็นลักษณะพื้นผิวได้ชัดเจนขึ้นมากกว่าช่วงก่อนหน้า เนื่องจากพายุฝุ่นเริ่มจางลง ภาพดาวอังคารทั้งหมดบันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของสดร. ที่ติดตั้ง ณ หอดูดาวดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา

ดาวอังคารจะโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใกล้โลกที่สุดในวันนี้ ห่างเพียง 57.6 ล้านกิโลเมตร (ระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกกับดาวอังคารประมาณ 225 ล้านกิโลเมตร) จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ดาวอังคาร เพราะมีความสว่างและมีขนาดปรากฏใหญ่มาก มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกจนถึงรุ่งเช้า


สำหรับที่ผ่านมา ดาวอังคารโคจรใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ วันที่ 14 เม.ย.2557 ระยะห่าง 92.39 และดาวอังคารได้โคจรเข้าใกล้โลกเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใกล้โลกมากที่สุดอีกครั้งในวันที่ 31 พ.ค.2559 ที่ระยะห่าง 75.28 ล้านกิโลเมตร และในวันนี้ ดาวอังคารจะมีขนาดปรากฏใหญ่ที่สุดและสว่างที่สุดในรอบ 15 ปี

สดร.จึงมีการจัดสังเกตการณ์ “ดาวอังคารใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี” ชวนจับตา 31 ก.ค. ลุ้นฝน หากฟ้าใส เห็นชัดด้วยตาเปล่าทั่วไทย จัดสังเกตการณ์ 4 จุด ที่เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา ส่องขั้วน้ำแข็งดาวเคราะห์แดงผ่านกล้องโทรทรรศน์ ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น.


ทั้งนี้ ดาวอังคาร หรือ Mars เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 ในระบบสุริยะ จะโคจรมาใกล้โลก ทุกๆ ประมาณ 26 เดือน เป็นช่วงที่ดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (opposition : ตำแหน่งที่ดาวอังคาร โลก และดวงอาทิตย์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง) เราจึงเห็นดาวอังคารมีความสว่างมากกว่าช่วงใดๆ ในรอบปี ดาวอังคารจะส่องประกายเป็นสีส้มแดง เนื่องจากพื้นผิวของดาวอังคารมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเหล็กออกไซด์ จึงมีฉายาว่า “ดาวเคราะห์สีแดง"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง