วันนี้ (2 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์เฉพาะกิจติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำ 24 ชั่วโมง จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) ที่กรมชลประทาน โดยนายสมกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ระบุว่า โครงสร้างการทำงานของศูนย์จะรวมข้อมูลเกี่ยวกับน้ำทั้งหมด และมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานเข้าร่วม มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการพร่องน้ำ และการจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
นายสมเกียรติ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมอยู่ในระดับสีเหลือง หรือเตรียมการเฝ้าระวัง เนื่องจากคาดว่าในช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ จะมีพายุเข้ามาประเทศไทยอีกหนึ่งลูก จึงต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 11 แห่ง
ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ที่คาดว่าจะทยอยเพิ่มขึ้นในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำสาเหตุมาจาก ปริมาณฝนที่ตกในฝั่งลาว และการระบายน้ำที่มีปัญหาในฝั่งไทย เพราะฝนที่ตกในฝั่งลาวทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนล้นมาที่จังหวัดฝั่งไทย คือ เลย อุบลราชธานี หนองคาย มุกดาหาร และนครพนม จำเป็นต้องแจ้งเตือนเพราะปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้น 70 เซนติเมตร - 1 เมตร ขณะนี้ได้ประสานลาวและจีน เพื่อขอข้อมูลการระบายน้ำแล้ว เพื่อจะได้ทราบและเตรียมรับมือทัน
ส่วนกระแสข่าวว่าปีนี้มีปริมาณน้ำเทียบเท่าปี 2554 จากการตรวจสอบปริมาณน้ำเมื่อวันที่ 1 ส.ค.นี้ ในภาพรวมมีปริมาณน้ำโดยรวมสูงจริง แต่เป็นเพียงบางแห่งในพื้นที่เขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ยังควบคุมได้ ทั้งนี้กรมชลประทาน บริหารจัดการระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำเข้า 2 เขื่อนนี้มากเกินไป
รับมือพท.เสี่ยงโซนเหลือง-เฝ้าระวังพายุ
ส่วนพื้นที่ภาคกลางยังคงเฝ้าระวังน้ำอยู่ ยืนยันว่าอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ความแข็งแรงยังดีแต่ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องคันดิน เพราะจุดที่เปราะบาง ที่ปริมาณน้ำจะไหลเข้ามา มากกว่าความจุของอ่าง โดยการระบายผ่านคันดินที่ไม่เปราะบาง ได้สำรวจไว้หมดแล้ว
ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ระบายน้ำภายใน 5 วัน แต่หากระบายน้ำไม่ทัน ให้หามาตรการควบคุมน้ำให้ได้ และหากมีน้ำลงมามากต้องดูแลพื้นที่ปลายน้ำ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า 3 วัน ก่อนการระบายน้ำ นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจดูแลเรื่องสถานการณ์น้ำ เริ่มจัดตั้งและปฏิบัติงานวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) บูรณาการร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง
มอบหมายให้ สทนช. ดูแลภาพรวมการระบายน้ำในเขื่อนทั้งหมดไปแล้ว โดยเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง สทนช.จะดูแลโดยตรง ส่วนเขื่อนขนาดเล็กและอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในความดูแลของท้องถิ่น ก็ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย
พร้อมกำชับว่า การระบายน้ำต้องระวังไม่ให้กระทบประชาชนและพื้นที่การเกษตร โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งเตือนประชาชนถึงความกว้างและปริมาณน้ำที่จะสูงขึ้นในพื้นที่รับน้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มี 2 เขื่อนที่ระดับน้ำสูงกว่าร้อยละ 90 คือเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร และเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษและเพิ่มปริมาณการปล่อยน้ำให้มากขึ้น
โดยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำใหญและขนาดกลาง (1 ส.ค.61) ปริมาตรน้ำรวมกัน52,091 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68 ปริมาตรน้ำใช้การได้ 28,170 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54