ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวเพชรบุรีคาดน้ำท่วมไม่รุนแรง เชื่อ"รัฐ-ชุมชน" จัดการน้ำได้ดี

ภัยพิบัติ
7 ส.ค. 61
11:54
1,484
Logo Thai PBS
ชาวเพชรบุรีคาดน้ำท่วมไม่รุนแรง เชื่อ"รัฐ-ชุมชน" จัดการน้ำได้ดี
เกาะติดสถานการณ์น้ำกันอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจาก จ.เพชรบุรี ที่ขณะนี้บางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ล้นสปิลเวย์ของเขื่อนแก่งกระจานแล้ว ขณะนี้ถนนบางสายถูกน้ำท่วมสูง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้ว หลังน้ำล้นสปิลเวย์คาดว่าน้ำจะไหลถึงตัวเมืองเพชร ในคืนนี้

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า หลังน้ำล้นระดับสปิลเวย์น้ำจะไหลไปสู่เขื่อนเพชร ระยะทาง 60 ก.ม. ในเวลา 10-12 ชั่วโมง หลังจากนั้นน้ำจะเคลื่อนตัวไปสู่ตัวเมืองเพชรบุรี อาจใช้เวลาประมาณ 20 ชม. หรือช่วงเย็นวันนี้ โดยปริมาณน้ำในรอบนี้จะกระทบ 5 อำเภอ จ.เพชรบุรี คือ แก่งกระจาน,ท่ายาง,บ้านลาด,เมืองเพชรบุรี และบ้านแหลม โดยกรมชลประทานมีแผนระบายน้ำและอพยพแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งเตือนประชาชนเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่าได้สั่งการให้กรมชลประทานติดเครื่องระบายน้ำเพิ่มเติม เพราะต้องควบคุมระดับน้ำที่ออกจากเขื่อนแก่งกระจานก่อนลงไปที่เขื่อนเพชร เพื่อไม่ให้น้ำผ่านมากเกินไป โดยจะผลักดันน้ำผ่านคลองชลประทาน 2 ด้าน ออกทะเลให้มากที่สุดและได้รับรายงานว่าหากระบายน้ำได้ตามเป้า ปริมาณน้ำที่จะเข้าถึงตัวเมือง 50 ซม.แต่พื้นที่ลุ่มต่ำอาจสูงขึ้น แต่ไม่สูงขึ้นเป็นเมตร แต่ก็มีสิ่งที่กังวลคือหากมีน้ำเข้ามาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ภายใน 2-3 วันนี้ จะส่งผลกระทบด้านตะวันตกของประเทศ เพราะน้ำมาจากเทือกเขาตะนาวศรี

และหลังจากลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า เขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำเต็ม 100% และล้นสูงกว่าสปิลเวย์ 3 ซม. คาดการณ์ว่าน้ำที่ไหลผ่านสปิลเวย์จะมีปริมาณสูงสุดที่ 100 ลบ.ม./วินาที หรือ 8.64 ล้านลบ.ม./วัน ในวันที่ 10 ส.ค.โดยมีระดับน้ำสูงขึ้นจากสันสปิลเวย์ประมาณ 50 ซม. ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.เป็นต้นไป คาดว่าจะมีน้ำจากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานประมาณ 250 ลบ.ม./วินาที จะทำให้แม่น้ำเพชรบุรีมีปริมาณน้ำสูงสุดวันที่ 12 ส.ค.

ด้านนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) กล่าวว่าต้องจับตาสถานการณ์น้ำใน จ.เพชรบุรี อีก 7 วันข้างหน้า คือวันที่ 9-11 ส.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูง อาจเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในช่วงกลางคืน ประมาณ 3-4 ทุ่ม ดังนั้นหน่วยงานที่ต้องบริหารจัดการน้ำต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย สิ่งที่ต้องสังเกตคือน้ำท่วม จ.เพชรบุรี รอบนี้ถือเป็นระลอกแรก เพราะปกติช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. จะเป็นฝนรอบแรก แต่ จ.เพชรบุรี น้ำก็เต็มเขื่อนแล้ว

ขณะที่ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ปกติคือฝนระลอก 2 ซึ่งปกติประเทศไทยมีฝน 2 ระลอก ระลอก 2 จะหนักกว่าระลอกแรก ระลอก 2 อาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ จ.เพชรบุรี อีก การท่วมปีนี้ถือว่า 3 ปีติดแล้ว หากบริหารจัดการน้ำยังไม่หมด อาจท่วมยาวกว่าที่คิด เพราะปกติฝนรอบ 2 จะตกหนัก และนานกว่ารอบแรก เพราะเมื่อน้ำท่วม จ.เพชรบุรี เมื่อเดือนพ.ย.2560 นั่นคือระลอก 2 ที่ทำให้ จ.เพชรบุรี จมอยู่ในน้ำถึง 8 อำเภอ"


ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าตัวเมืองเพชรบุรีขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 1.30 ม.ซึ่งยังต่ำกว่าตลิ่ง ชาวบ้านในพื้นที่คาดว่าในปีนี้่สถานการณ์น้ำท่วมจะไม่รุนแรงเท่ากับปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการตั้งรับโดยทั้งหน่วยงานภาครัฐและชุมชนเป็นอย่างดี

บริเวณ ร.ร.วัดปากคลอง (ศุทธยาลัยอุทิศ) ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี สร้างอาคาร 2 ชั้น ยกพื้นสูง 1.20 ม.ซึ่งสร้างเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีบทเรียนในการรับมือน้ำท่วมเนื่องจาก ร.ร.ตั้งติดกับแม่น้ำเพชรบุรี จึงได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดสร้างด้วยงบประมาณ 3 ล้านบาท รองรับนักเรียนได้กว่า 200 คน และยังเป็นสถานที่พักให้กับเด็กนักเรียนและครอบครัวได้ด้วย นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้วางแนวกระสอบทรายสูง 50 ซม.ระยะทาง 100 ม.ตามแนวริมแม่น้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม

ขณะนางบุญนาค ครึกครื้น ชาวตำบลบางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ซึ่งมีบ้านอยู่บ้านริมคลอง กล่าวว่า ได้เตรียมวางแนวไม้เสริมบริเวณทางเดินเพื่อใช้ในการเดินทางเข้า-ออก บ้านได้สะดวกหากน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วม รวมถึงเตรียมยารักษาโรคไว้ให้กับผู้สูงอายุ สำรองไว้ถึง 2 เดือน

ขณะที่บรรยากาศภายในตัวเมืองเพชรบุรี ประชาชนยังคงดำรงชีวิตตามปกติ ร้านค้าหลายแห่งเปิดให้บริการกันอย่างคึกคัก หลังมีประกาศให้เตรียมรับมือระดับน้ำที่คาดว่าจะท่วมในพื้นที่ 50 ซม.โดยหลายพื้นที่ได้เสริมแนวกระสอบทรายและคันปูนซีเมนต์เพื่อป้องกันน้ำท่วม

ขณะที่บริเวณถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรไปยังพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปีที่แล้วถูกน้ำท่วม เจ้าหน้าที่ได้นำป้ายมาติดตั้งเพื่อแนะนำเส้นทางเลี่ยงน้ำท่วมเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

ขณะที่ชาวบ้านเพชรบุรี ยังเชื่อว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะไม่รุนแรงเท่ากับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำเป็นไปได้ด้วยดี ทั้งการเบี่ยงน้ำจากเขื่อนเพชรบุรีไปยังคลองต่างๆ ทำให้ระดับน้ำลดลงไปมาก ทำให้น้ำท่วมในเขตตัวเมืองลดลงและการผลักดันน้ำลงสู่ทะเลซึ่งทำได้ดีก่อนที่น้ำจะท่วมจึงเป็นสัญญาณที่ดีว่า จะมีโอกาสรอดจากน้ำท่วมในปีนี้

นางหฤทัย ประเสริฐสุข ชาวอำเภอเมืองเพชรบุรี กล่าวว่า ปริมาณน้ำในปีนี้ไม่เหมือนกับปีที่แล้วไม่ได้เยอะ เพราะสังเกตจากถนนหน้าบ้านจะค่อนข้างต่ำและโรงเรียนบริเวณตลาดท่ายางจะท่วมก่อน แต่ปีนี้คิดว่าไม่น่าจะท่วมในพื้นที่ตลาดเมืองเพชรบุรีและฝนก็ไม่ได้ตกเหมือนกับปีที่แล้ว

ด้านนายมานะ พ่วงขาว ชาวอำเภอเมืองเพชรบุรี กล่าวว่า จะยังไม่รื้อแนวกั้นออกจนกว่าฝนจะหมด แต่หากมรสุมเข้าในช่วง 1-2 วันนี้ และมีฝนตกหนัก คาดว่าตัวเมืองเพชรบุรีจะได้รับผลกระทบ ซึ่งหลายคนเตรียมตัวรับมือไว้หมดแล้วเพราะมีบทเรียนจาก 2 ปีที่แล้ว

ขณะที่บริเวณวัดเขาตะเครา กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 14 เครื่อง เพื่อเร่งผลักดันน้ำลงสู่ทะเล อัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 18 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ขณะที่อีกจุดมีเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือ จำนวน 20 ลำ ที่ติดตั้ง บริเวณหน้าวัดคุ้งตำหนัก ต.บางตะบูน ช่วยระบายน้ำได้ 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง