วันนี้ (7 ส.ค.2561) นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กล่าวว่า ในแต่ละปีอุทยานแห่งชาติมีนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขยะพลาสติกและโฟมจำนวนมากกว่าปีละ 2 ล้านตัน โดยเป็นขยะพลาสติกถุงหิ้วที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมากถึง 1.2 ล้านตัน โดยขยะเหล่านี้หากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศป่า กระทบสัตว์ป่า หลายครั้งพบว่าสัตว์ป่าทั้งบนบก และในทะเลกินเศษขยะเหล่านี้ไปจนตาย สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยว
ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.นี้ ประกาศให้อุทยานแห่งชาติ 154 แห่งทั่วประเทศ จะไม่มีการใช้โฟม และพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในพื้นที่อุทยานเด็ดขาด โดยบริเวณหน้าด่านเข้าอุทยานจะตั้งจุดตรวจก่อนเข้าพื้นที่ ซึ่งจะมีถุงผ้าสลับเปลี่ยนในช่วงแรก เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกลง
พร้อมกับรณรงค์ขยะคืนถิ่น ให้นักท่องเที่ยวนำขยะทั้งหมดกลับออกไปด้วยหลังจากเสร็จกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติแล้ว ส่วนร้านค้าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะไม่มีการใช้ถุงพลาสติก จาน ช้อน ส้อมพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และผลิตภัณ์จากโฟม โดยจะใช้วัสดุอื่นที่ย่อยสลายง่ายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทน คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยลดปริมาณขยะจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้กว่า 3 ล้านชิ้นต่อปี
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบสัตว์ป่าตาย เนื่องจากระบบการย่อยอาหารล้มเหลว ในลำไส้และกระเพาะอาหารพบเศษขยะพลาสติก นอกจากนี้ยังพบว่ามีเศษพลาสติกจากฝาขวดบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ปลิวกระจายหลายจุดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ กรมอุทยาน ใช้หลักการตามแนวคิด 3 Rs คือ การใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมทั้งจัดรณรงค์ลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอด และช้อน ส้อม ที่ทำจากพลาสติก เริ่ม 12 ส.ค.นี้พร้อมกันในอุทยานแห่งชาติ 154 แห่งทั่วประเทศ