วันนี้ (15 ส.ค. 61) พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ว่า จากการรายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สามารถเก็บกับปริมาณน้ำส่วนใหญ่ที่เกิดจากฝนที่ตกหนักภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในช่วงวันที่ 13 ส.ค. ทำให้ลดความรุนแรง และความเสียหายที่เกิดจากน้ำป่าไหลหลากในครั้งนี้ได้
หากไม่มีเขื่อนขุนด่านปราการชล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปริมาณน้ำกว่า 20 ล้านลบ.ม.จะไหลลงสู่คลองท่าด่านมาสมทบกับปริมาณน้ำจากคลองวังตะไคร้ คลองมะเดื่อ คลองนางรอง และคลองสาริกา สถานการณ์น้ำป่าจะรุนแรง สร้างความเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน
กำชับวางแผน "พร่องน้ำ" ไม่กระทบท้ายเขื่อน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยน้ำหลากในพื้นที่ต้นน้ำ ในเขตอนุรักษ์ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ทันท่วงที และให้สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาแนวทางพัฒนาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายกตอนบน โดยเฉพาะในลำน้ำสาขาที่ยังไม่มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ เช่น คลองมะเดื่อ เพื่อเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.)พิจารณาต่อไป
กำชับว่าการพร่องน้ำออกจากเขื่อน ต้องไม่กระทบกับประชาชน และถ้าได้รับผลกระทบต้องน้อยที่สุด ประสานกับทุกหน่วยงาน จะระบายน้ำอย่างไร หากปล่อยน้ำมากขึ้นจะมีระดับน้ำสูง และท่วมถึงจุดไหนต้องแจ้งเตือนประชาชน เป็นการเตรียมการล่วงหน้ากับทุกเขื่อนที่ปริมาณน้ำเยอะ เอาแผนย้อนหลัง 5 ปีมาประกอบกับการพยากรณ์ และถ้าทำตามแผนจะไม่กระทบต่อประชาชน
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำนครนายกตอนบนว่า จะต้องพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำสาขาของนครนายกตอนบน ควบคู่ไปด้วย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและควบคุมน้ำร่วมกับเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่ง สทนช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณลุ่มน้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี ในพื้นที่จังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ จากการรายงานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนขุนด่านปราการชล กรมชลประทาน พบว่าก่อนที่จะเกิดน้ำป่าไหลหลากในวันที่ 13 ส.ค.นี้ เขื่อนขุนด่านปราการชลฯ มีปริมาณน้ำ 163 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 ของปริมาณความจุในระดับกักเก็บ
หลังเกิดเหตุการณ์ทำให้มีปริมาณน้ำ ในวันรุ่งขึ้นเพิ่มสูงขึ้นเป็น 174 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุ ส่วนวันนี้ มีปริมาณน้ำ 183 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 12.05 ลดลงจาก 1 ล้าน ลบ.ม.มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 3.11 ล้าน ลบ.ม. ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ และการระบายน้ำไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนแต่อย่างใด
อ่านข่าวเพิ่มเติม
5 เขื่อนเร่งพร่องน้ำรับพายุโซนร้อน "เบบินคา"