วันนี้(22 ส.ค.2561) นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลำปาง สามารถเพาะพันธุ์ “ปลารากกล้วยจินดา” ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะปลารากกล้วยจินดา จัดเป็นปลาพื้นถิ่นของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันจัดอยู่สถานภาพสุ่มเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ พบได้น้อยมากในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะเป็นปลาที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้ง ยังถูกจับขึ้นมาขายเป็นเมนูขึ้นโต๊ะประจำร้านอาหารมากมาย เช่น ปลารากกล้วยทอด หรือ ปลารากกล้วยแดดเดียวเนื่อง จากเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อย ประชาชนนิยมรับประทาน ทำให้ให้ปลาในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว
กรมประมง มีนโยบายในการจัดทำโครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่น และสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ จึงได้สนับสนุนให้มีการศึกษาและทดลองเพาะพันธุ์ปลารากกล้วยจินดา โดยใช้เวลาเพียง 6 เดือน ก็สามารถศึกษาและเพาะพันธุ์ได้สำเร็จ
นายสง่า ลีสง่า ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กล่าวว่า ปลารากกล้วยจินดา หรือ รากกล้วยแม่ปิง หรือ ซ่อนทราย เป็นปลาที่มีลักษณะรูปร่างเพรียวยาว ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างกลม มีจะงอยปากยาวแหลม มีหนวดสั้นๆ 3 คู่ มีหนามแหลมอยู่ใต้ตา ตัวมีสีน้ำตาลอ่อน ผิวหนังเรียบและมีเมือกคลุม ส่วนหัวด้านบน และลำตัวมีจุดสีดำขนาดใหญ่ ซึ่งต่างจากปลารากกล้วยชนิดอื่นที่มีหน้ายาวและจุดขนาดเล็กกว่า มีจำนวนครีบหลัง 10 ก้าน ครีบหางเว้าตื้นและมีแต้มดำ ชอบอาศัยอยู่อาศัยในแม่น้ำบริเวณที่มีพื้นท้องน้ำที่เป็นทราย โดยเฉพาะพบบริเวณแถบลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เตรียมปล่อยคืนธรรมชาติเดือนก.ย.นี้
นายอรรถพล โลกิตสถาพร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลำปาง ผู้ที่เพาะพันธุ์ปลารากล้วยจินดา กล่าวถึงกระบวนการเพาะพันธุ์ว่า ศูนย์น้ำจืดฯ ลำปาง ได้รวบรวมพันธุ์ปลารากกล้วยจินดาในธรรมชาติ มาตั้งแต่เดือนม.ค.ปี 2561 ในพื้นที่ลำห้วยสาขาต้นน้ำวัง อ.เมืองปาน อ.แจ้ห่ม และอ. วังเหนือ จ.ลำปาง จำนวน 77 ตัว โดยนำมาเลี้ยงไว้ กระทั่งเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา พบปลามีความสมบูรณ์เพศทั้งเพศผู้และเพศเมีย จึงได้ทดลองเพาะพันธุ์ครั้งแรกได้ลูกปลา จำนวน 40 ตัว และได้ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมทดลองเพาะพันธุ์ต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง จนปัจจุบันมีอัตราการรอดและได้ลูกพันธุ์รวมแล้ว จำนวน 5,500 ตัว ซึ่งทางหลักวิชาการถือว่าประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์
จากการตรวจสอบเอกสารวิชาการของไทย ยังไม่พบว่ามีผู้ใดเพาะพันธุ์ปลาดังกล่าวได้สำเร็จ จึงถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถเพาะพันธุ์ปลารรากกล้วยจินดาได้สำเร็จ คาดว่าในช่วงต้นเดือนกันยายน จะร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ในการนำลูกพันธุ์บางส่วนไปปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำที่ไปรวบรวมพ่อแม่พันธุ์มาเพื่อคงความหลากหลายและเพิ่มปริมาณประชากรปลารากกล้วยจินดาให้มากขึ้น