วันนี้ (23 ส.ค.2561) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการนครเอดินเบรอะเตรียมพิจารณาเพิกถอนรางวัลเสรีภาพแห่งเอดินเบรอะที่เคยมอบให้แก่ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา เมื่อปี 2548 เพื่อยกย่องในการยืนหยัดเพื่อสันติภาพและประชาธิปไตยในเมียนมา หลังจากถูกทหารกักบริเวณในบ้านพักในช่วงเวลานั้น
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากประธานคณะกรรมการส่งจดหมายเรียกร้องให้ ซู จี เคลื่อนไหว เพื่อเปิดทางให้ชาวโรฮิงญาเดินทางกลับภูมิลำเนาในรัฐยะไข่ได้อย่างปลอดภัย แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งรางวัลเกียรติยศดังกล่าวถือเป็นรางวัลที่ 7 ที่องค์กรต่างๆ ประกาศเพิกถอน หรือประกาศให้เป็นโมฆะ เนื่องจาก ซู จี ปฏิเสธและหลีกเลี่ยงที่จะต่อสู้เพื่อชาวโรฮิงญา
ก่อนหน้านี้ ซู จี กล่าวต่อที่ประชุมในสิงคโปร์ถึงภัยคุกคามจากการก่อการร้ายในรัฐยะไข่ของเมียนมา ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภูมิภาค แต่หลีกเลี่ยงการใช้คำว่าโรฮิงญาในการกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ ซึ่งนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน อพยพหนีความรุนแรงในรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศ
ขณะที่งานวิจัยชิ้นใหม่ของ Save the Children ชี้ว่า เด็กชาวโรฮิงญาที่หนีความรุนแรงเข้าไปยังบังกลาเทศโดยไม่มีพ่อแม่เดินทางไปด้วย ซึ่งครึ่งหนึ่งของเด็กทั้งหมด กลายเป็นเด็กกำพร้าจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขัดแย้งกับการศึกษาชิ้นเดิมที่ระบุว่า เด็กและพ่อแม่พลัดพรากจากกันในระหว่างการอพยพและอาจจะได้กลับมาพบกันในอนาคต
ด้านเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือที่ทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเด็กมากกว่า 6,000 คน ที่ไม่ได้พบหน้าพ่อแม่อีกนับตั้งแต่อพยพมายังค่ายแห่งนี้ ซึ่งเด็กบางส่วนข้ามพรมแดนมาด้วยตัวเอง ก่อนจะไปอาศัยอยู่กับญาติ หรือเพื่อนบ้านภายในค่ายผู้อพยพ ขณะที่ส่วนหนึ่ง ระบุว่า ได้เห็นพ่อแม่ของตัวเองถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม