ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปลดล็อก ม.7 เปิดทางประชาชนปลูกไม้หวงห้ามขาย

สิ่งแวดล้อม
23 ส.ค. 61
12:23
4,179
Logo Thai PBS
ปลดล็อก ม.7 เปิดทางประชาชนปลูกไม้หวงห้ามขาย
กรมป่าไม้ เตรียมทำระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่สนใจจะปลูกต้นไม้เพื่อเป็นหลักประกันสินทรัพย์ ป้องกันการสวมไม้จากป่ามาใช้ประโยชน์ หลังครม.ไฟเขียวปลดล็อกมาตรา 7 แก้ไขให้ประชาชนปลูกและตัดไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์ได้

นโยบายการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกป่า โดยเฉพาะการปลูกป่าในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของตนเองและดำเนินธุรกิจโดยใช้ไม้มีค่า ซึ่งที่ผ่านมาติดปัญหา เนื่องจาก พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่มีอายุค่อนข้างยาวนานและอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยเฉพาะมาตรา 7 และแก้ไขเพิ่มเติมจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 ที่ได้กำหนดเกี่ยวกับไม้หวงห้ามที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มิใช่ป่า ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคต่อการทำไม้ในที่ดินของประชาชน

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม จึงมองว่าหากมีการปรับแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้มาตรา 7 จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการปลูกไม้มีค่าเพื่อดำเนินการทางธุรกิจได้ และได้จัดเตรียมระบบเพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนแล้ว

ชนิดไม้ปลูกประกันหนี้ได้ 

ล่าสุดวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติหลักการในการแก้ไขหลักการ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยมีสาระสำคัญคือ แก้ไขให้ไม้ทุกชนิดในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง เช่น ที่ดินที่มีโฉนด, น.ส.3, น.ส.3ก., น.ส.3 ข, ใบจอง, น.ส.2, ส.ค.1 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม และการทำไม้ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่อีกต่อไป หรือสามารถเอาไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันทำได้

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 มาตรา 7 ได้กำหนดชนิดไม้หวงห้ามประเภท ก.ซึ่งต้องมีการขออนุญาตก่อนตัดโค่น หากมีการใช้ในที่ดินของตนเองโดยไม่ได้รับการอนุญาต จะต้องรับโทษ 1- 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 2,000, 000 บาท โดยมีดังนี้ คือ ไม้สัก, ไม้ยาง, ไม้ชิงชัน, ไม้เก็ดแดง, ไม้อีเม่ง, ไม้พะยูงแกลบ, ไม้กระพี้, ไม้แดงจีน, ไม้ขะยูง, ไม้ซิก, ไม้กระซิก, ไม้กระซิบ, ไม้พะยูง, ไม้หมากพลูตั๊กแตน, ไม้กระพี้เขาควาย, ไม้เก็ดดำ, ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย โดยกำหนดให้ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครอง จะต้องถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.ป่าไม้ หากจะทำการตัด ฟัน กาน โค่น ลิดเลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลาก จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกร-ตัดสวมสิทธิ์ไม้จากป่า 

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า การยกเลิกมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 เพื่อให้การปลูกไม้ยืนต้นในที่กรรมสิทธิ์เจ้าของที่ดินที่ชอบด้วยกฏหมาย มีสิทธิ์ ปลูก ตัด เลื่อยแปรรูปจะไม่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน


ยังจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมไม่ให้มีการนำไม้ผิดกฎหมายมาสวมสิทธิ์เพราะสถานการณ์ลักลอบตัดไม้ยังคงมีอยู่ กรมป่าไม้ได้เตรียมทำระบบให้ประชาชนมาลงทะเบียนแล้ว โดยต้องปลูกในที่ดินของตัวเอง มีอายุ และตำแหน่งพิกัด ชัดเจน ถ้ามีการใช้ประโยชน์จะต้องรู้แหล่งที่มาและตรวจสอบได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง