นายถวิล สิงห์พันธ์ ชาวจังหวัดมหาสารคาม ปลูกต้นพะยูงกว่า 20,000 ต้น ในเนื้อที่ 50 ไร่เมื่อ 5 ปีก่อน จากความชื่นชอบส่วนตัวและได้รับการส่งเสริมต้นกล้าจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้
นายถวิล กล่าวว่า เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังไม่กล้าปลูกไม้พะยูง จึงมีเพียงกลุ่มคนที่สามารถศึกษาข้อมูล มีที่ดิน และเงินทุน รวมถึงเกษตกรที่ปรับตัวทำการเกษตรแบบผสมผสาน
ชาวบ้านไม่กล้าปลูกไม้พะยูง ปลูกแล้วมีความผิด เพราะเป็นไม้หวงห้าม ถ้าตัดแล้วต้องติดคุก
กฎหมายที่กำหนดให้นำไม้ยืนต้น 58 ชนิด มาใช้เป็นหลักประกันกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ รวมทั้งการเตรียมปรับแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่จะสามารถปลูกไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อตัดจำหน่าย จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะเลือกปลูกไม้มูลค่าสูง
นายชัยชนะ เสือเพ็ง ผู้ก่อตั้งชมรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้พะยูงแห่งประเทศไทย เชื่อว่ากฏหมายใหม่จะเป็นการปลดล็อกเพื่อเกษตรกรปลูกไม้พะยูงเพื่อการค้าได้เพิ่มมากขึ้น แต่ต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนโดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่ใช้ปลูก
มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.สวนป่า ปี 2558 เขาระบุไว้ (2) (3) ว่า ที่ดินที่จะใช้ในการยื่นจดทะเบียนให้กับต้นไม้ ได้แม้กระทั่งที่ดินที่เราไปเช่าเขาอยู่ ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ที่ดินที่มีการทำนิติกรรมตามกฎหมายได้ทุกชนิด
ชมรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้พะยูงแห่งประเทศไทย พบว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภาครัฐส่งเสริมให้ปลูกไม้พะยูงเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ทางชมรมมีสมาชิกที่ปลูกไม้พะยูงจากทั่วประเทศกว่า 100 คน
ทั้งหมดกำลังติดตามการปรับแก้กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลูกไม้หวงห้าม และยังเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาปรับแก้กฏหมายเพื่อให้ไม้พะยูงที่ปลูกอย่างถูกต้อง สามารถตัดเพื่อส่งออกได้ในอนาคต
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ปลดล็อก ม.7 เปิดทางประชาชนปลูกไม้หวงห้ามขาย
ห่วงเกษตรกรรายย่อยตกขบวน "ปลูกไม้" ประกันหนี้